ปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงานและภาวะสุขภาพตามความเสี่ยง ของคนงานโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่

Authors

  • เรียงสอน สุวรรณ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลห้างฉัตร
  • ภารดี นานาศิลป์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ธานี แก้วธรรมานุกูล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงาน, ภาวะสุขภาพตามความเสี่ยง, คนงานโรงงานเซรามิก, โรงงาน เซรามิกขนาดใหญ่

Abstract

     คนงานเซรามิกมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการสัมผัสปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงาน การศึกษาเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงานและภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงของคนงานโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่ กลุ่มตัวอย่างเป็นคนงานโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่ จังหวัดลำปาง จำนวน 331 คน รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2557 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์การสัมผัสปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงานและภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงของคนงานโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.98 และทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ได้ค่าในระดับที่ยอมรับได้ (0.75-0.87)
     ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยคุกคามสุขภาพจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่สำคัญตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ปัจจัยคุกคามสุขภาพด้านเคมี คือ ฝุ่น ดิน หรือทราย ร้อยละ 68.28 ปัจจัยคุกคามสุขภาพด้านการยศาสตร์ คือ การบิดเอี้ยวตัวและท่าทางการทำงานซ้ำๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 66.16 ปัจจัยคุกคามสุขภาพด้านกายภาพ คือ ความร้อนจากเตาเผา ร้อยละ 52.57 ส่วนสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย คือ การทำงานกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีความคม พบ ร้อยละ 22.66 สำหรับภาวะสุขภาพตามความเสี่ยงตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า การเจ็บป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการสัมผัสปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงานที่สำคัญ ได้แก่ ปวดคอ ไหล่ หลัง ร้อยละ 54.38 ปวดแขน ข้อศอก ข้อมือ ร้อยละ 40.18 ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ร้อยละ 37.46 ผื่นคันตามผิวหนัง ร้อยละ 34.14 ส่วนการบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานในช่วง 3 เดือน
ที่ผ่านมาพบเพียง ร้อยละ 11.18 และส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.00 เป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยที่ไม่ต้องหยุดงาน

     ผลการศึกษาครั้งนี้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับพยาบาลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องได้นำ ไปใช้ในการจัดทำโครงการเพื่อลดปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงาน ได้แก่ปัจจัยคุกคามสุขภาพด้านเคมี ด้านการยศาสตร์และ ด้านกายภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บจากการทำงานของคนงานโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่

Downloads

Published

2016-12-31

How to Cite

สุวรรณ เ., นานาศิลป์ ภ., & แก้วธรรมานุกูล ธ. (2016). ปัจจัยคุกคามสุขภาพจากการทำงานและภาวะสุขภาพตามความเสี่ยง ของคนงานโรงงานเซรามิกขนาดใหญ่. Nursing Journal CMU, 43(4), 67–78. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/77525