ผลของการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลต่อความพึงพอใจ การติดเชื้อ และการหายของแผลของผู้บาดเจ็บที่มีแผลฉีกขาดที่ศีรษะ
Keywords:
การทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผล, ความพึงพอใจ, การติดเชื้อที่แผล, การหายของแผล, ผู้บาดเจ็บที่มีแผลฉีกขาดที่ศีรษะAbstract
แผลฉีกขาดที่ศีรษะเป็นแผลอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย การทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลอาจทำให้ผู้บาดเจ็บเกิดความพึงพอใจ แต่อาจส่งผลต่อการติดเชื้อที่แผลและการหายของแผล การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง แบบมีกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง เพื่อศึกษาผลของการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลต่อความพึงพอใจ การติดเชื้อ และการหายของแผลของผู้บาดเจ็บที่
มีแผลฉีกขาดที่ศีรษะ ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและมีแผลฉีกขาดที่ศีรษะซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านภายหลังได้รับการจัดการแผลที่ห้องฉุกเฉิน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและมีแผลฉีกขาดที่ศีรษะซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านภายหลังได้รับการจัดการแผลที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 90 ราย เก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2558
จัดกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองโดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยวิธีจับฉลาก ได้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มละ 45 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามมาตรฐานปกติ กลุ่มทดลองได้รับการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผล เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะน้ำยา 4% คลอเฮกซิดีนกลูโคเนต แชมพูเด็ก น้ำประปา และคู่มือ
การทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผล เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความพึงพอใจซึ่งมีข้อคำถามเดียว แบบบันทึกการติดเชื้อที่แผลตามเกณฑ์การวินิจฉัยการติดเชื้อที่แผลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center for Disease Control and Prevention [CDC], 2014) และแบบบันทึกการหายของแผล เครื่องมือใช้ในการรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยสร้างขึ้น
จากการทบทวนวรรณกรรมและผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิในการศึกษานี้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยการติดเชื้อที่แผลและการหายของแผล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติทดสอบแมนวิทนีย์ยู และสถิติไคว์สแควร
ผลการศึกษาพบว่า
1. กลุ่มที่ได้รับการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลมีความพึงพอใจ (ค่ามัธยฐาน = 4) มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานปกติ(ค่ามัธยฐาน = 3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < .001, U = 260, r = 7.10)
2. กลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มที่ได้รับการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลและกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานปกติไม่มีการติดเชื้อที่แผล
3. กลุ่มที่ได้รับการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลมีการหายของแผล ร้อยละ 77.78 (35/45) ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานปกติร้อยละ 84.44 (38/45)
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะหลังการจัดการแผลอย่างเหมาะสมสร้างความพึงพอใจโดยไม่ทำให้แผลติดเชื้อและไม่มีผลต่อการหายของแผลในผู้บาดเจ็บที่มีแผลฉีกขาดที่ศีรษะ ดังนั้นจึงควรนำวิธีการนี้ไปใช้ในการดูแลผู้บาดเจ็บที่มีแผลฉีกขาดที่ศีรษะเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว