การทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการจัดการความเครียดในสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
Keywords:
การทบทวนอย่างเป็นระบบ, การจัดการความเครียด, เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดAbstract
สตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งความเครียดจะส่งผลกระทบต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและภาวะสุขภาพของทารกขณะอยู่ในครรภ์ ดังนั้นสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องได้รับการจัดการความเครียดที่มีประสิทธิภาพ การทบทวนอย่างเป็นระบบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสรุปวิธีการและผลลัพธ์ของการจัดการความเครียดในสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จากรายงานการวิจัยปฐมภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 ถึง 2556 โดยใช้กระบวนการทบทวนอย่างเป็นระบบของสถาบันโจแอนนาบริกส์ (The Joanna Briggs Institute for Evidence Based Nursing & Midwifery [JBI], 2011) ผลการสืบค้น พบงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการความเครียดในสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดตามคำสำคัญที่ระบุไว้ทั้งหมด 40 เรื่องงานวิจัยจำนวน 7 เรื่อง ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้แบบคัดกรองรายงานการวิจัย งานวิจัยจำนวน 1 เรื่อง ถูกคัดออกเนื่องจากไม่สามารถติดตามเอกสารฉบับสมบูรณ์ และงานวิจัยจำนวน 2 เรื่อง ถูกคัดออกเนื่องจากเอกสารฉบับเต็มตีพิมพ์เป็นภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ได้งานวิจัยจำนวน 4 เรื่องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อเข้าสู่การทบทวน ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงทดลองจำนวน 1 เรื่อง และแบบกึ่งทดลองจำนวน 3 เรื่อง ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์โดยการสรุปเชิงเนื้อหา เนื่องจากผลการศึกษาไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เมต้าได้
ผลการจัดการความเครียด พบว่า 1) การใช้เทคนิคการหายใจ ได้แก่ การใช้เทคนิคควบคุมลมหายใจแบบโยคะ และการใช้เทคนิคการหายใจร่วมกับการให้ข้อมูล 2) การผ่อนคลาย และ 3) การสนับสนุนทางสังคม มีผลในการลดระดับความเครียดในสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
จากผลการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการแนะนำเทคนิคควบคุมลมหายใจแบบโยคะ การใช้เทคนิคการหายใจร่วมกับการให้ข้อมูล โปรแกรมการฝึกการผ่อนคลาย และการสนับสนุนทางสังคมมาใช้ในการดูแลสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์สามารถจัดการความเครียดด้วยตนเองอย่างเหมาะสม สำหรับด้านการวิจัย ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงทดลองเกี่ยวกับการจัดการความเครียดในสตรีที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเพิ่มเติม หรือทำวิจัยซ้ำ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ ขยายองค์ความรู้และเพิ่มเติมข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เมต้าในอนาคตต่อไป
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว