ทัศนคติ บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม และความตั้งใจของบิดาในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา
Keywords:
ทัศนคติ, บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง, การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม, ความตั้งใจ, บิดา, การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาAbstract
การเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อทารก รวมทั้งมารดา สังคมและประเทศชาติ ซึ่งบิดาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา การวิจัยเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติ บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม กับความตั้งใจของบิดาในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา กลุ่มตัวอย่าง คือ บิดาที่พาภรรยาที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 37-40 สัปดาห์ มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่ ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 จำนวน 102 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินวัด 4 ด้าน ได้แก่ ทัศนคติ บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม และความตั้งใจของบิดาในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาของฮาร์วูด (Harwood, 2011) ที่สร้างขึ้นจากทฤษฎีพฤติกรรมที่มีการวางแผน และนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดย ปรียกมล เลิศตระการนนท์ กรรณิการ์ กันธะรักษา และนันทพร แสนศิริพันธ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปรที่ศึกษา โดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน
ผลการวิจัย พบว่า
1. บิดามีทัศนคติโดยทางตรงต่อการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระดับสูง ร้อยละ 99.00 มีทัศนคติโดยทางอ้อมที่ดีต่อการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระดับปานกลาง ร้อยละ 53.30 และบิดามีทัศนคติต่อการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระดับสูง ร้อยละ 99.00
2. บิดามีบรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิงในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 72.40
3. บิดามีการรับรู้การควบคุมพฤติกรรมในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 87.10
4. บิดามีความตั้งใจในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาในระดับสูง ร้อยละ 94.10
5. ทัศนคติของบิดาต่อการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับสูง กับความตั้งใจของบิดาในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r = .748, p<.01) บรรทัดฐานกลุ่มอ้างอิง และการรับรู้การควบคุมพฤติกรรมของบิดาในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางกับความตั้งใจของบิดาในการกระตุ้นมารดาให้เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r = .326, r = .438, p<.01 ตามลำดับ)
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว