ประสิทธิภาพของแบบคัดกรองวัณโรคปอดในโรงพยาบาล
Keywords:
ประสิทธิภาพ, การคัดกรอง, วัณโรคปอด, โรงพยาบาลAbstract
การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะแพร่กระจายเชื้อได้เร็วสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลได้ การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของแบบคัดกรองวัณโรคปอดในโรงพยาบาล โดยใช้แบบคัดกรองวัณโรคปอดในกลุ่มเสี่ยงของสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจที่เข้ารับการตรวจรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลน่าน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม 2556 จำนวน 330 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้คัดกรองตามแบบคัดกรองแล้วพบว่าสงสัยวัณโรคปอด 110 ราย และไม่สงสัยวัณโรคปอด 220 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา หาค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายผลบวกและการทำนายผลลบ และประเมินความถูกต้องในการจำแนกผู้ป่วยวัณโรคของแบบคัดกรองโดยใช้กราฟอาร์โอซี
ผลการวิจัยพบว่า แบบคัดกรองวัณโรคในโรงพยาบาลมีค่าความไวร้อยละ 93.10 ความจำเพาะร้อยละ 72.43 การทำนายผลบวกร้อยละ 24.55 และการทำนายผลลบร้อยละ 99.10 โดยแบบคัดกรองมีความถูกต้องในการจำแนกผู้ป่วยวัณโรคได้ร้อยละ 82.76 การคัดกรองจากอาการสงสัยวัณโรคปอดที่มีระดับคะแนน ความเสี่ยงตามแบบคัดกรองวัณโรคตั้งแต่สามคะแนนขึ้นไป มีค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายผลบวก และการทำนายผลลบ ร้อยละ 93.10, 75.42, 26.73 และ 99.13 ตามลำดับ โดยที่การมีอาการไอเรื้อรัง มากกว่า 2 สัปดาห์ มีค่าความไว การทำนายผลบวกและการทำนายผลลบสูงกว่าอาการอื่นๆ คือ ร้อยละ 82.76, 27.91 และ 97.95 ตามลำดับ และอาการไอมีเลือดปนมีค่าความจำเพาะสูงสุด คือ ร้อยละ 94.02 การคัดกรองจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการป่วยเป็นวัณโรคพบว่า การมีประวัติอยู่ร่วมบ้านหรือที่ทำงานกับผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังรักษา การมีโรคประจำตัวที่ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำ การมีประวัติรักษาวัณโรคไม่สม่ำเสมอ หรือหยุดยาก่อนกำหนดมีค่าความไวและค่าการทำนายผลบวกต่ำ แต่ปัจจัยทั้งสามด้านมีค่าความจำเพาะและ การทำนายผลลบในระดับสูง
โรงพยาบาลต่างๆ อาจพิจารณานำแบบคัดกรองวัณโรคปอดที่ใช้ในการศึกษานี้ไปใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดในโรงพยาบาลได้ โดยสามารถคัดกรองจากอาการสงสัยวัณโรค โดยเฉพาะอาการไอเรื้อรัง มากกว่า 2 สัปดาห์
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว