การดูแลของมารดาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด

Authors

  • มะลิวรรณ สุตาลังกา โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง
  • มาลี เอื้ออำนวย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • จุฑามาศ โชติบาง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ทารกเกิดก่อนกำหนด, การดูแลของมารดา, การส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด, ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

Abstract

     การดูแลของมารดาในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันปัญหาพัฒนาการของทารก การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์เพื่อศึกษาการดูแลของมารดาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่าง คือ มารดาของทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และทารกเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดโรงพยาบาลตติยภูมิ 3 แห่งในภาคเหนือ จำนวน 85 ราย ระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2557เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย   1) แบบสอบถามการดูแลของมารดาในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดตามการรับรู้ของมารดา 2) แบบประเมินความรุนแรงของความเจ็บป่วยของทารกเกิดก่อนกำหนดตามการรับรู้ของมารดา   3) แบบสอบถามการได้รับการเตรียมเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด และ         4) แบบสอบถามความคิดเห็นของมารดาในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและสถิติสหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน

          ผลการวิจัย พบว่า

       1. มารดาให้การดูแลในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดโดยรวมเกือบทุกครั้งคิดเป็นร้อยละ 68.2 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่ามารดาให้การดูแลในด้านการจัดสิ่งแวดล้อมของทารกโดยการลดแสงและเสียงการส่งเสริมการพักหลับ และการทำแกงการู ทุกครั้ง คิดเป็นร้อยละ 63.5, 58.8และร้อยละ 42.4 ตามลำดับ สำหรับด้านการจัดท่านอนให้เหมาะสมแก่ทารก และด้านการส่งเสริมให้ทารกปลอบโยนตนเอง พบว่ามารดาให้การดูแลเกือบทุกครั้ง คิดเป็นร้อยละ 62.4 และร้อยละ 54.1 ตามลำดับ ส่วนด้านการส่งเสริมการดูดจุกนมหลอก มารดาให้การดูแลเพียงบางครั้ง คิดเป็นร้อยละ 52.9

       2. การได้รับการเตรียมเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับการดูแลของมารดาในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .01) แต่ความรุนแรงของความเจ็บป่วยของทารกเกิดก่อนกำหนดตามการรับรู้ของมารดา และความคิดเห็นของมารดาในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดไม่มีความสัมพันธ์กับการดูแลของมารดาในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด

          ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลของมารดา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด การเตรียมมารดาอย่างมีประสิทธิภาพโดยพยาบาลจะทำให้มารดาสามารถให้การดูแลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนดได้อย่างเหมาะสม

Downloads

Published

2017-01-01

How to Cite

สุตาลังกา ม., เอื้ออำนวย ม., & โชติบาง จ. (2017). การดูแลของมารดาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนาการของทารกเกิดก่อนกำหนด. Nursing Journal CMU, 44(1), 50–61. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/91125