ความโศกเศร้าเรื้อรังและวิธีการจัดการของบิดามารดาเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด

Authors

  • อัญพัชญ์ วิวัฒน์กมลชัย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
  • ศรีพรรณ กันธะวัง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • จุฑารัตน์ มีสุขโข คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ความโศกเศร้าเรื้อรัง, วิธีการจัดการ, บิดามารดาเด็กป่วยโรคมะเร็ง, เคมีบำบัด

Abstract

มะเร็งในเด็กเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิต และเคมีบำบัดเป็นการรักษาที่ซับซ้อน มีอาการข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ส่งผลให้บิดามารดาเกิดความรู้สึกสูญเสียบุตร ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยอันอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นความรู้สึกโศกเศร้าเรื้อรัง วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงพรรณนานี้ คือ อธิบายความโศกเศร้าเรื้อรัง และวิธีการจัดการของบิดามารดาเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยใช้ทฤษฎีความโศกเศร้าเรื้อรัง (Eakes, Burke, & Hainsworth, 1998) เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือ บิดามารดาของเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จำนวน 65 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความโศกเศร้าเรื้อรังของบิดามารดา
เด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด และแบบประเมินวิธีการจัดการความโศกเศร้าเรื้อรังของบิดามารดา
เด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัยมีดังนี้

          1. บิดามารดาของเด็กป่วยโรคมะเร็งส่วนมาก (ร้อยละ 93.8) เกิดความรู้สึกแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่คาดหวังในระดับมาก ซึ่งนำไปสู่ความโศกเศร้าเรื้อรังในระดับสูง และบิดามารดาทุกรายรู้สึกเศร้า โดยร้อยละ 60 ระบุว่ารู้สึกไม่ดีมาก ๆ และทุกรายรู้สึกวิตกกังวล โดยร้อยละ 64.6 ระบุว่า รู้สึกไม่ดีมาก ๆ บิดามารดาส่วนมาก (ร้อยละ 96.9) รายงานว่า ลักษณะความโศกเศร้าเรื้อรังที่เกิดขึ้นมีมากขึ้นและลดลง และ

รู้สึกได้ถึงผลกระทบที่มีต่อชีวิตด้านอื่น (ร้อยละ 92.3) และเกินครึ่ง (ร้อยละ 53.8) เชื่อว่า ความรู้สึกโศกเศร้าเรื้อรังนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตตลอดไป และประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 35.4) รู้สึกว่าความโศกเศร้ามีมากขึ้นกว่าระยะแรก  สิ่งที่กระตุ้นให้บิดามารดาทุกรายเกิดความรู้สึกโศกเศร้าเรื้อรังขึ้นมาอีก คือ เมื่อบุตรเกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการทำหัตถการ

          2. วิธีการจัดการความโศกเศร้าเรื้อรังด้วยตนเอง ในด้านการกระทำด้วยตนเองพบว่า บิดามารดา
ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87.7) ใช้การปฏิบัติกิจทางศาสนาในวัด/โบสถ์ โดยร้อยละ 67.7 ระบุว่าช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง ในด้านการจัดการกับกระบวนการคิด บิดามารดาทุกรายใช้การเผชิญกับความรู้สึกนั้นทุกวัน โดยร้อยละ 67.7 ระบุว่า ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาก ในด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น บิดามารดาส่วนมาก (ร้อยละ 95.4) ใช้การพูดคุยกับคนใกล้ชิด  โดยร้อยละ 66.2 ระบุว่า ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง และในด้านการจัดการกับอารมณ์ บิดามารดาทุกรายใช้การร้องไห้ โดยร้อยละ 66.2 ระบุว่า ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง

          3. วิธีการจัดการความโศกเศร้าเรื้อรังโดยการช่วยเหลือจากผู้อื่น พบว่า บิดามารดาส่วนมาก (ร้อยละ 95.4) ได้รับการบอกข้อมูลเรื่องโรค ผลเลือด และแผนการรักษาจากบุคลากรทางสุขภาพ โดยร้อยละ 70.8 ระบุว่า ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาก และบิดามารดาส่วนมาก (ร้อยละ 95.4) ระบุว่า บุคคลในครอบครัว หรือ เพื่อน แสดงความเข้าใจในสถานการณ์ที่บุตรป่วยเป็นมะเร็งและได้รับเคมีบำบัด โดยร้อยละ 47.7 ระบุว่า ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาก

          ผลการวิจัยทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับ ความโศกเศร้าเรื้อรังและวิธีการจัดการของบิดามารดาเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้สนใจทำการศึกษาวิจัยต่อในเรื่อง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความโศกเศร้าเรื้อรังและวิธีการจัดการของบิดามารดาเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด เพื่อนำไปสู่การทำวิจัยเชิงทดลอง หรือกึ่งทดลอง เกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือบิดามารดาในการจัดการความโศกเศร้าเรื้อรังในขั้นตอนต่อไป 

Downloads

Published

2017-01-01

How to Cite

วิวัฒน์กมลชัย อ., กันธะวัง ศ., & มีสุขโข จ. (2017). ความโศกเศร้าเรื้อรังและวิธีการจัดการของบิดามารดาเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด. Nursing Journal CMU, 44(1), 62–73. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/91141