ความวิตกกังวล การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและพยาบาล และการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ของผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลัน

Authors

  • สุธิศา ล่ามช้าง คณะพยาบาลศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อมรรัชช์ งามสวย คณะพยาบาลศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อรพินท์ จันทร์ปัญญาสกุล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  • ปรีชา ล่ามช้าง คณะพยาบาลศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ความวิตกกังวล, การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและพยาบาล, การปฏิบัติป้องกันอาการชักเด็ก, การป่วยเฉียบพลัน

Abstract

     อาการชักจากไข้สูงในเด็กเป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจ ทำให้ผู้ดูแลมีความวิตกกังวลอย่างมาก อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก การวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวล การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและพยาบาล กับการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ของผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลัน กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเป็นผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันอายุ 6 เดือน ถึง 6  ปี ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2559  จำนวน 85 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินความวิตกกังวล (The State - Trait Anxiety Inventory [STAI]) ของ สปิลเบอร์เกอร์และคณะ แปลเป็นภาษาไทยโดย ดาราวรรณ ต๊ะปินตา แบบประเมินการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับพยาบาลของ ธันยมนย์ วงษ์ชีรี และแบบสอบถามการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ เท่ากับ 0.87  0.89 และ 0.73 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน

ผลการศึกษาพบว่า

  1. ผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์และความวิตกกังวลแฝงระดับ
    ปานกลาง (= 46.56 S.D. = 8.07,  = 43.52 S.D. = 7.75 ตามลำดับ) การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลกับพยาบาลอยู่ระดับมาก (= 71.92 S.D. = 9.32) และการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ของผู้ดูแล
    เด็กป่วยเฉียบพลันอยู่ระดับปานกลาง  ( = 72.35 S.D. = 9.45) 
  2. ความวิตกกังวลไม่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ของผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลัน แต่ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางกับการสื่อสารระหว่างผู้ดูแลกับพยาบาล (rs =  0.34, p < .01) และความวิตกกังวลแฝงมีความสัมพันธ์ทางลบระดับต่ำ
    กับการสื่อสารระหว่างผู้ดูแลกับพยาบาล (rs = - 0.24, p < .05)
  3. การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลกับพยาบาลมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับต่ำกับการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ของผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลัน (rs = 0.22, p < .05)

            ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าพยาบาลควรเพิ่มการสื่อสารกับผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลัน
ทั้งการสื่อสารด้วยวาจาและการสื่อสารไม่ใช่วาจา ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลันและส่งเสริมให้ผู้ดูแลสามารถปฏิบัติเพื่อป้องกันอาการชักจากไข้ได้อย่างเหมาะสม

Downloads

Published

2017-01-01

How to Cite

ล่ามช้าง ส., งามสวย อ., จันทร์ปัญญาสกุล อ., & ล่ามช้าง ป. (2017). ความวิตกกังวล การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและพยาบาล และการปฏิบัติป้องกันอาการชักจากไข้ของผู้ดูแลเด็กป่วยเฉียบพลัน. Nursing Journal CMU, 44(1), 74–85. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/91144