ผลของการวางแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยจากแผนกฉุกเฉิน ต่อความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแล
Keywords:
การวางแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อย, ความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแล, ผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยAbstract
ผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยที่มีความเสี่ยงต่ำในการเกิดอาการสำคัญทางคลินิกจากการบาดเจ็บสมองและได้รับการจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉิน อาจมีความก้าวหน้าการดำเนินของพยาธิสภาพจากการบาดเจ็บที่สำคัญในเวลาต่อมา จึงไม่อาจยืนยันถึงความปลอดภัยของผู้บาดเจ็บกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของการวางแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยจากแผนกฉุกเฉินต่อความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแล เลือกกลุ่มตัวอย่างอย่างเจาะจงจำนวน 72 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างละเท่ากันจำนวน 36 คน เครื่องมือวิจัยสร้างโดยผู้วิจัยจากการทบทวนวรรณกรรมประกอบด้วยแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อย วีดิทัศน์ประสบการณ์ผู้ดูแลผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อย ภาพสไลด์การดูแลผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อย และคู่มือการดูแลผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยได้รับการตรวจสอบคุณภาพความตรงของเนื้อหาและความเหมาะสมของภาษาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน และปรับปรุงหลังการนำไปทดลองใช้ เครื่องมือรวบรวมข้อมูลสร้างโดยผู้วิจัยจากการทบทวนวรรณกรรม ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแลผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อย ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 1 ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้ คูเดอร์ริชาร์ดสัน (KR-20) ได้ค่า .74 และ .71 รวบรวมข้อมูลหลังการจำหน่ายจากแผนกฉุกเฉิน 24 48 และ 72 ชั่วโมงตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนที่มีการวัดซ้ำ (repeated measures ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่าคะแนนเฉลี่ยความรู้และคะแนนเฉลี่ยปฏิบัติของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F1, 70=314.671, p<.001 และ F1, 70=300.895, p=.001)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นผลของการวางแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยต่อการคงอยู่ของความรู้และการปฏิบัติของผู้ดูแลหลังจากจำหน่ายออกจากแผนกฉุกเฉิน จึงควรนำแผนการจำหน่ายผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยไปใช้ในสถานการณ์จริงเพื่อให้ผู้บาดเจ็บสมองระดับเล็กน้อยจากแผนกฉุกเฉินมีความปลอดภัยมากขึ้น
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว