การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการปฏิบัติการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตในหอผู้ป่วยวิกฤต
Keywords:
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ, การดูแลแบบประคับประคอง, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย, ระยะสุดท้ายของชีวิต, หอผู้ป่วยวิกฤตAbstract
ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤตส่วนใหญ่จะมีอาการหนักและมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทีมผู้ดูแลจะต้องให้การดูแลแบบประคับประคองในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสรุปวิธีปฏิบัติและผลลัพธ์ของการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตในหอผู้ป่วยวิกฤต จากงานวิจัยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 ถึง 2555 โดยใช้แนวทางการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของสถาบันโจแอนนาบริกส์ (JBI, 2011) ผลการสืบค้นอย่างเป็นระบบพบงานวิจัยผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้งหมด 13 เรื่อง ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงทดลองจำนวน 2 เรื่อง และการศึกษากึ่งทดลอง จำนวน 11 เรื่อง เครื่องมือที่ใช้ในการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ คือ แบบประเมินคุณภาพงานวิจัยและแบบสกัดข้อมูล ใช้การวิเคราะห์เมตาและการสรุปเชิงเนื้อหาในการอธิบายการปฏิบัติและผลลัพธ์ของการดูแลแบบประคับประคอง
ผลของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ พบว่า มีความหลากหลายของวิธีการปฎิบัติการดูแลแบบประคับประคองในหอผู้ป่วยวิกฤต จากการวิเคราะห์เมตาในงานวิจัย 2 เรื่อง พบว่า การปฏิบัติการดูแลแบบประคับประคองเชิงรุก ส่งผลให้จำนวนวันนอนในหอผู้ป่วยวิกฤตลดลง (WMD 2.78; 95% CI 2.46, 3.11, p < 0.0001) จากการสรุปเชิงเนื้อหา พบว่า การปฏิบัติการดูแลแบบประคับประคองในหอผู้ป่วยวิกฤตที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี คือ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองโดยเน้นทีมผู้ที่เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา การสื่อสารเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองโดยมีกระบวนการวางแผนการสื่อสารภายในทีมและระหว่างทีมกับครอบครัวและการจัดการอาการปวดเพื่อความสุขสบายของผู้ป่วย ซึ่งผลลัพธ์ของการปฏิบัติการดูแลแบบประคับประคอง คือ จำนวนวันนอนในหอผู้ป่วยวิกฤตและจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลที่สั้นลง อัตราการให้คำปรึกษาที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยได้รับยาแก้ปวดและยานอนหลับเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ทีมผู้ดูแลมีความพึงพอใจมากขึ้นและเพิ่มคุณภาพในการดูแลแบบประคับประคอง
การทบทวนอย่างเป็นระบบครั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการที่หลากหลายในการให้การดูแลระยะสุดท้ายที่สามารถนำไปใช้โดยทีมสหสาขาวิชาชีพในหอผู้ป่วยวิกฤติ และควรมีการทำวิจัยซ้ำโดยใช้การวิจัยแบบทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิผลของวิธีการต่างๆ ต่อไปด้วย
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว