ผลของการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะต่อสมรรถภาพทางกายในผู้สูงอายุ
Keywords:
การออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะ, สมรรถภาพทางกาย, ความทนทานของปอดและหัวใจ, ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ, ผู้สูงอายุAbstract
กระบวนการสูงอายุส่งผลให้สมรรถภาพทางกายที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างอิสระของผู้สูงอายุลดลง การออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่มีความหนักเบาระดับปานกลางสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายได้ การวิจัย กึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะต่อสมรรถภาพ ทางกายในผู้สูงอายุ จำนวน 52 รายที่อาศัยอยู่ในตำบลสันทรายงาม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2556 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย เข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 26 ราย โดยมีความคล้ายคลึงกันในด้าน เพศ อายุ ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และความทนทานของปอดและหัวใจ กลุ่มทดลองมีการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะ ครั้งละ 50 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้ออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบบันทึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และความทนทานของปอดและหัวใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติทดสอบค่าที
ผลการวิจัย พบว่า
1. สมรรถภาพทางกายด้านความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อภายหลังการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะของกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)
2. สมรรถภาพทางกายด้านความทนทานของปอดและหัวใจภายหลังการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะของกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)
3. สมรรถภาพทางกายด้านความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และความทนทานของปอดและหัวใจของกลุ่มทดลองภายหลังการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะมากกว่าก่อนการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)
ผลการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายด้านความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ และความทนทานของปอดและหัวใจในผู้สูงอายุได้ ดังนั้นบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายแบบหะฐะโยคะเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางกาย
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว