สมรรถนะและการปฏิบัติบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพของพยาบาล ในการให้บริการระดับปฐมภูมิ เขตภาคเหนือ
Keywords:
สมรรถนะการสร้างเสริมสุขภาพ, การปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพ, พยาบาล, ภาคเหนือของประเทศไทยAbstract
การสร้างเสริมสุขภาพเป็นหนึ่งในสมรรถนะและบทบาทสำคัญของพยาบาลวิชาชีพในการสร้างสุขภาวะของประชาชน ดังนั้นพยาบาลวิชาชีพจึงต้องมีสมรรถนะดังกล่าว การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสมรรถนะในการสร้างเสริมสุขภาพและการปฏิบัติบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวาของพยาบาลวิชาชีพผู้ให้บริการระดับปฐมภูมิในสถานบริการสุขภาพในเขตพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 938 ราย รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและวิเคราะห์หาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือได้ค่าเท่ากับ .95 - .98 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา หาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับสมรรถนะด้านคุณลักษณะส่วนบุคคลในการสร้างเสริมสุขภาพ (ร้อยละ 45.0-63.5) และด้านปฏิบัติกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ร้อยละ 48.5-60.3) อยู่ในระดับชำนาญ และมีสมรรถนะด้านบริหารจัดการในการสร้างเสริมสุขภาพ (ร้อยละ 32.7-56.5) ด้านการพัฒนาภาคีเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ (ร้อยละ 44.2-54.5) และด้านการวิจัยและการจัดการความรู้ (ร้อยละ 63.5-76.7) อยู่ในระดับพื้นฐาน ส่วนการปฏิบัติบทบาทของพยาบาลวิชาชีพในการสร้างเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวา กลุ่มตัวอย่างปฏิบัติในลักษณะรายปีด้วยสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 26.2-46.7) รองลงมาคือ ไม่ได้ปฏิบัติ (ร้อยละ 15.9-44.7) หรือปฏิบัติในลักษณะรายเดือน (ร้อยละ 10.6-31.7) ทั้งในด้านการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ด้านการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล และด้านการปรับระบบบริการสุขภาพ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ควรมีการเสริมสร้างสมรรถนะด้านบริหารจัดการในการสร้างเสริมสุขภาพ ด้านการพัฒนาภาคีเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ และด้านการวิจัยและการจัดการความรู้ให้กับพยาบาลวิชาชีพที่ให้บริการระดับปฐมภูมิ รวมทั้งการส่งเสริมการปฏิบัติบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพของพยาบาลวิชาชีพ
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว