ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด

Authors

  • ทัศน์วรรณ สุนันต๊ะ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม
  • ปิยะนุช ชูโต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พรรณพิไล ศรีอาภรณ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

สมรรถนะแห่งตน, การสนับสนุนทางสังคม, ความต้องการที่จะผอม, พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมัน, สตรีหลังคลอด

Abstract

     พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสตรีหลังคลอด โดยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดน้ำหนักคงค้างหลังคลอด ที่จะนำไปสู่การมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน การวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และอำนาจการทำนายของสมรรถนะแห่งตน การสนับสนุนทางสังคม และความต้องการที่จะผอม ต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีในระยะ 6 - 8 สัปดาห์หลังคลอด จำนวน 120 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง อายุระหว่าง 20 - 35 ปี มารับการตรวจหลังคลอดที่หน่วยวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือพาบุตรมารับวัคซีนที่คลินิกสุขภาพเด็กดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กันยายน พ.ศ.2558 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด แบบสอบถามสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมัน แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมัน และแบบสอบถามความต้องการที่จะผอมในระยะหลังคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

ผลการวิจัย พบว่า

1. สตรีหลังคลอดมีคะแนนพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันอยู่ในระดับปานกลาง (X = 59.22, S.D. = 3.79)

2. สมรรถนะแห่งตน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด   (r = .320, p < .01) การสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรม     

การรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด (r = .292, p < .01) และการสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน  มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด (r = .224, p < .05)

3. สมรรถนะแห่งตน และการสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรม การรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด ได้ร้อยละ 14.3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) 

      ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการปฏิบัติทางการพยาบาล เพื่อส่งเสริมสมรรถนะแห่งตน และการสนับสนุนทางสังคม จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สตรีหลังคลอด มีการรับประทานอาหารไขมันอย่างเหมาะสม ป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักคงค้างหลังคลอดที่จะนำไปสู่การมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในสตรีตามมา

Downloads

Published

2017-06-30

How to Cite

สุนันต๊ะ ท., ชูโต ป., & ศรีอาภรณ์ พ. (2017). ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันในสตรีหลังคลอด. Nursing Journal CMU, 44(2), 46–56. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/97833