ผลของการสวมหมวกลดระดับเสียงต่อระยะหลับตื่นของทารกเกิดก่อนกำหนด ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
Keywords:
หมวกลดระดับเสียง, ระยะหลับตื่น, ทารกเกิดก่อนกำหนดAbstract
ระดับความดังเสียงที่สูงในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดรบกวนระยะหลับตื่นของทารกเกิดก่อนกำหนดส่งผลให้พัฒนาการของสมองและระบบประสาทสัมผัสของทารกผิดปกติ การวิจัยกึ่งทดลองกลุ่มเดียวแบบไขว้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการสวมหมวกลดระดับเสียงต่อระยะหลับตื่นของทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีอายุหลังปฏิสนธิ 34-36 สัปดาห์ และได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกันยายน 2557 กลุ่มตัวอย่างมีกลุ่มเดียว ทำการทดลองแบบไขว้ โดยเหตุการณ์ทดลองทารกได้รับการสวมหมวกลดระดับเสียง ส่วนเหตุการณ์ควบคุมทารกไม่ได้รับการสวมหมวกลดระดับเสียง ทารกอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามปกติของหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด ผู้วิจัยทำการบันทึกวีดิทัศน์ระยะหลับตื่นของทารก โดยใช้แบบบันทึกระยะหลับตื่นของทารกเกิดก่อนกำหนดของ เพ็ญจิตร ธนเจริญพิพัฒน์ (2544) ซึ่งดัดแปลงมาจากแบบประเมินพฤติกรรมทารกแรกเกิด ของบราเซลตัน (Brazelton & Nugent, 1995) โดยผ่านการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ได้ค่าความเที่ยงตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 1 การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยตรวจสอบค่าความเชื่อมั่นของการสังเกตระหว่างผู้วิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ และค่าความเชื่อมั่นของการสังเกตของผู้วิจัยได้เท่ากับ 1 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที (paired t-test)
ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า
1. ค่าเฉลี่ยระยะหลับรวมของทารกเกิดก่อนกำหนดในเหตุการณ์ทดลองมากกว่าในเหตุการณ์ควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.029)
2. ค่าเฉลี่ยระยะหลับลึกของทารกเกิดก่อนกำหนดในเหตุการณ์ทดลองมากกว่าในเหตุการณ์ควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.004)
3. ค่าเฉลี่ยระยะหลับตื้นของทารกเกิดก่อนกำหนดในเหตุการณ์ทดลองและในเหตุการณ์ควบคุมไม่มีความแตกต่างกัน (p=.395)
4. ค่าเฉลี่ยระยะตื่นของทารกเกิดก่อนกำหนดในเหตุการณ์ทดลองและในเหตุการณ์ควบคุมไม่มีความแตกต่างกัน (p=.475)
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการสวมหมวกลดระดับเสียงส่งเสริมระยะเวลาหลับลึกและหลับรวมของทารกเกิดก่อนกำหนดให้นานขึ้น ดังนั้นจึงควรสวมหมวกลดระดับเสียงให้แก่ทารกเกิดก่อนกำหนดที่อยู่ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดเพื่อส่งเสริมคุณภาพการหลับที่ดี
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว