ผลของการสนับสนุนของครอบครัวต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็น โรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง
Keywords:
การสนับสนุนของครอบครัว, พฤติกรรมสุขภาพ, ผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องAbstract
การสนับสนุนในด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านสิ่งของและบริการ และการสนับสนุนด้านอารมณ์ของครอบครัว จะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง มีการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ส่งผลให้มีการชะลอการเสื่อมของไตและลดภาวะแทรกซ้อนได้ การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการสนับสนุนของครอบครัวต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง ที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จำนวน 30 ราย ได้รับการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงและสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 ราย ขณะทำการศึกษา กลุ่มตัวอย่างในกลุ่มควบคุมเสียชีวิต 1 ราย ดังนั้นจึงเหลือกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มควบคุม จำนวน 14 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการส่งเสริมการสนับสนุนของครอบครัวในการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง 2) คู่มือการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง 3) แบบสอบถามการรับรู้การสนับสนุนของครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง 4) แบบสอบถามการให้การสนับสนุนของครอบครัวที่ให้แก่ผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง 5) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และ 6) แบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบทีชนิดสองกลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (independent t- test) และสถิติทีชนิดสองกลุ่มไม่เป็นอิสระต่อกัน (paired t – test )
ผลการศึกษาพบว่า
1.พฤติกรรมสุขภาพในผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตผ่านทางช่องท้องแบบต่อเนื่องหลังได้รับการสนับสนุนของครอบครัวดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) 2.พฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตผ่านช่องท้องแบบต่อเนื่องหลังได้รับการสนับสนุนของครอบครัวดีกว่าก่อนได้รับการสนับสนุนของครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < .01)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนของครอบครัวมีผลให้พฤติกรรมสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องดีขึ้น ดังนั้นจึงควรแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวให้การสนับสนุนทั้งในด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านสิ่งของและบริการ และด้านอารมณ์แก่ประชากรกลุ่มดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ประชากรดังกล่าวมีการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมต่อไป
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว