ผลของการสร้างแรงจูงใจในการป้องกันต่อการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อและอุบัติการณ์การติดเชื้อของผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
Keywords:
การสร้างแรงจูงใจในการป้องกัน, การป้องกันการติดเชื้อ, อุบัติการณ์การติดเชื้อ, ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องAbstract
การป้องกันการติดเชื้อเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องปฏิบัติ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองชนิด 2 กลุ่มเปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการสร้างแรงจูงใจในการป้องกันต่อการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อและอุบัติการณ์การติดเชื้อของผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง มีระยะเวลาล้างไตตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และมาตรวจตามนัดที่ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาพร้อมมิตร จำนวน 50 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 25 ราย และกลุ่มควบคุม 25 ราย โดยวิธีการสุ่มแบบง่าย ดำเนินการวิจัย ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 โดยกลุ่มทดลองได้รับการสร้างแรงจูงใจในการป้องกันตามแนวคิดของโรเจอร์ส กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการสร้างแรงจูงใจในการป้องกัน แบบสอบถามการปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อ และแบบเฝ้าระวังการติดเชื้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติวิลคอกซัน สถิติฟรีดแมน สถิติ t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ
ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อของกลุ่มทดลองหลังการสร้างแรงจูงใจในการป้องกัน 4 สัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก 38.6 คะแนน เป็น 41.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 44 คะแนน แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) และคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติของกลุ่มทดลองหลัง 8 สัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก 38.6 คะแนน เป็น 41.8 คะแนน แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) ภายหลังการสร้างแรงจูงใจในการป้องกัน 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติ 41.2 คะแนนสูงกว่ากลุ่มควบคุม
ซึ่งมีค่าคะแนนเฉลี่ย 37.7 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) และหลัง 8 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติ 41.8 คะแนน สูงกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งมีค่าคะแนนเฉลี่ย 36.7 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) และไม่พบอุบัติการณ์การติดเชื้อทั้งในกลุ่มทดลองและในกลุ่มควบคุม
ผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการสร้างแรงจูงใจในการป้องกันสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องให้มีการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้อง
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว