ภาระงานทางกายและอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อของคนทำงานเซรามิก
Keywords:
ภาระงานทางกาย, อาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ, คนทำงานเซรามิกAbstract
ภาระงานทางกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ การวิจัยเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาระงานทางกาย อาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ และความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานทางกายและอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อของคนทำงานเซรามิก กลุ่มตัวอย่าง คือ คนงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกขนาดเล็ก จำนวน 335 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ดัชนีชี้วัดภาระงานทางกายและแบบสัมภาษณ์อาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาระงานทางกายอยู่ในระดับสูง ปานกลาง และต่ำ คือร้อยละ 18.81 ร้อยละ 68.95 และร้อยละ 12.24 ตามลำดับ โดยขั้นตอนการทำงานที่มีภาระงานทางกายอยู่ในระดับสูงมากที่สุดคือ ขั้นตอนการเผาผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 67.86) การเตรียมดิน (ร้อยละ 41.30) และการขึ้นรูป (ร้อยละ 20.22) ตามลำดับ ส่วนอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อในช่วง 12 เดือน และ7 วันที่ผ่านมาของกลุ่มตัวอย่างพบ ร้อยละ 90.15 และร้อยละ 60.49 ตามลำดับ โดยพบอาการผิดปกติบริเวณไหล่มากที่สุด คือร้อยละ 88.41 และร้อยละ 74.76 รองลงมาคือบริเวณข้อมือ/มือ ร้อยละ 78.81 และร้อยละ 63.11 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาระงานทางกายมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อเฉพาะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rbp = .112, p = .040) โดยพบความสัมพันธ์ทางบวกกับส่วนของร่างกายที่มีอาการผิดปกติ คือบริเวณไหล่ หลังส่วนล่าง และสะโพก/ต้นขา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rbp = .179, p = .001, rbp = .133, p = .015 และ rbp = .184, p = .001 ตามลำดับ) ส่วนความสัมพันธ์ของภาระงานทางกายกับอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ พบเฉพาะในส่วนของบริเวณหลังส่วนล่าง (rbp = .139, p = .011) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า คนทำงานเซรามิกมีความเสี่ยงจากภาระงานทางกาย ที่ส่งผลต่อการเกิดอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณไหล่ และหลังส่วนล่าง ที่ควรนำมาจัดการด้านอาชีวอนามัยที่เหมาะสมต่อไป
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว