ภาระงานทางกายและอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ ของเกษตรกรปลูกข้าวโพดฝักอ่อน
Keywords:
ภาระงานทางกาย, อาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ, เกษตรกรปลูกข้าวโพดฝักอ่อนAbstract
ภาระงานทางกายทั้งในด้านท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม และการออกแรงมากเกินกำลัง ส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ การวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาระงานทางกาย อาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ และความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานทางกาย และอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อของเกษตรกรปลูกข้าวโพดฝักอ่อน จำนวน 249 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสัมภาษณ์ดัชนีชี้วัดภาระงานทางกายและอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา อัตราความชุกของอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 69.48 มีภาระงานทางกาย ในระดับปานกลาง และ ร้อยละ 13.25 มีภาระงานทางกายในระดับสูง ส่วนอัตราความชุกของอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ ในช่วง 12 เดือน และ 7 วัน ที่ผ่านมา พบร้อยละ 88.35 และ ร้อยละ 47.39 ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามส่วนของร่างกายที่มีอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ ในช่วง 12 เดือน และ 7 วันที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการผิดปกติบริเวณหลังส่วนล่างในสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือไหล่ การทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างภาระงานทางกายและอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ พบว่า ภาระงานทางกาย มีความสัมพันธ์ทางบวกกับอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อทั้งในช่วง 12 เดือน และ 7 วัน ที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rpb = .217, p = .001 และ rpb = .139, p = .029) และภาระงานทางกายยังมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อที่บริเวณหลังส่วนล่าง และบริเวณไหล่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในช่วง 12 เดือน (rpb = .330, p = .000 และ rpb = .359, p = .000) และในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (rpb = .159, p = .012 และ rpb = .289, p = .000) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพดฝักอ่อนโดยเฉพาะในด้านท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม และความแข็งแรงของร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติในระบบโครงร่างกล้ามเนื้อที่มีผลจากภาระงานทางกาย
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาร
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว