การลดลงของระดับ ST-segment และภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจ ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน
Main Article Content
Abstract
การลดลงของระดับ ST-segment และภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน
วิวัฒน์ กาญจนรุจวิวัฒน์, พ.บ.*
*กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้า
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ในปัจจุบันการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างระดับการลดลงของค่าเอสทีกับผลการรักษาทางด้านหัวใจนั้นยังไม่มีความชัดเจน จึงได้ทำการศึกษานี้เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ทางด้านหัวใจเมื่อวัดระดับการลดลงค่าเอสทีที่ระยะเวลา 90 นาที, 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง หลังการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน และศึกษาถึงปัจจัยพื้นฐานที่มีผลให้ ST segment ลดลงมากกว่าร้อยละ50 และน้อยกว่าร้อยละ 50
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ descriptive โดยการเก็บข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนระหว่างวันที่ 1 เดือนสิงหาคม ถึง 31 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยแบ่งระดับการลดลงของระดับเอสทีเป็นสองกลุ่มคือ ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 และ น้อยกว่าร้อยละ 50 และเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลการรักษาทางด้านหัวใจเป็นระยะเวลา 1 เดือน
ผลการศึกษา: จากการศึกษาในผู้ป่วย 26 ราย พบระดับการลดลงของค่าเอสทีที่มากกว่าร้อยละ 50 คิดเป็นจำนวน 10 ราย (ร้อยละ 38.4) 12 ราย (ร้อยละ 46.1) และ 14 ราย (ร้อยละ 57.7) ที่ระยะเวลา 90 นาที 24 ชั่วโมงและ 48 ชั่วโมงตามลำดับ ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่เก็บข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหัวใจหลังการรักษา 1 ราย (ร้อยละ 3.8) เกิดภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำ 3 ราย (ร้อยละ 11.4) และ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอันเนื่องมาจากหัวใจ 2 ราย (ร้อยละ 7.6) จากการศึกษาพบว่า โอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซ้ำ เป็นปัจจัยเดียวที่แสดงค่าน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีระดับการลดลงของค่าเอสทีมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อวัดที่ระยะเวลา 48 ชั่วโมง ระดับ Thrombolysis in myocardial infarction (TIMI) flow 3 หลังการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนมีจำนวน 19 (ร้อยละ 73.1) คิดเป็นร้อยละ 75 กับ 70, 83 กับ 64 และ 90 กับ 60 ระหว่างกลุ่มที่ค่าเอสทีลดลงน้อยกว่า 50 และมากกว่า 50 ในช่วงระยะเวลาทั้ง 3 ดังกล่าว
สรุป: ระดับการลดลงของค่าเอสทีในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันไม่มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตและผลทางด้านหัวใจเมื่อติดตามเป็นระยะเวลา 1 เดือน และระดับ TIMI flow หลังการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนไม่มีผลต่อการลดลงของค่าเอสที
คำสำคัญ: โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน; การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน; การลดลงของระดับเอสที
ST-Segment Resolution and Cardiac Outcomes after Primary Percutaneous Coronary Intervention (PPCI) in Patients with Acute ST-Segment Elevation Myocardial Infarction
Wiwat Kanjanarutjawiwat, M.D.*
*Department of Medicine, Prapokklao Hospital
Abstract
Background: The Primary Percutaneous Coronary Intervention (PPCI) is an effective strategy of choice for ST-elevation myocardial infarction (STEMI), but the association between ST-segment resolution after PPCI and short term cardiac outcome is still not clearly defined. Thus, this study determines whether ST-segment resolution at 90 minutes, 24 hours, and 48 hours after PPCI should predict short term 1-month mortality and cardiac outcomes in patients with STEMI.
Materials and method: This study included 26 patients with STEMI who were treated with PPCI between August 1st, and December 31st, 2013. We collected ECG at presenting and at 90 minutes, 24 hours, and 48 hours after balloon deflating to assess 1-month mortality and other cardiac outcomes. The appearance ST-segment resolution was divided into 2 categories: complete ST-segment resolution (≥50%) and non-complete ST-segment resolution (<50%) to determine difference in short term prognosis.
Results: Number of patients with complete ST-segment resolution (≥50%) were 10 (38.4%), 12 (46.1%), and 14 (57.7%) at 90 minutes, 24 hours, and 48 hours respectively. During short term 1 month follow up, there were 1 death cases developed (3.8%), 3 cases developed (11.4%) recurrent AMIs, and 2 cases developed (7.6%) congestive heart failure Less recurrent acute myocardial infarction (AMI) rate in complete ST-segment resolution group at 48 hours was the only significant figure (P = 0.032) among all cardiac outcomes. Thrombolysis in myocardial infarction( TIMI ) flow 3 after PPCI was observed in 19 (73.1%) patients and divided into 75% vs 70%, 83% vs 64%, and 90% vs 60% respectively in three time points between non-complete and complete group.
Conclusions: The degree of ST-segment resolution did not predict mortality rate at 1-month. There was no statistically significant in TIMI flow after PPCI between complete and non-complete resolution groups.
Key words: acute myocardial infarction; primary percutaneous coronary intervention; ST-segment resolution