An IgM Antibody Capture-Lattex Adsorption Test for Detection of IgM Antibody to Rubella Virus
Abstract
ถึงแม้ปัจจุบันเราจะมีความรู้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสามารถทำได้ดีกว่าก่อน และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ทำงานวิจัยทางการแพทย์ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ เราะยังมีปัญหาสาธารณสุขอีกมากที่หาคำตอบไม่ได้ มีโรคหลายโรคที่ทำการวินิจฉัยหรือการรักษายังเป็นปัญหา งานวิจัยทางการแพทย์ อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือการวิจัยทางคลินิก (Clinical/ applied research) ซึ่งเป็นการนำเอาความรู้ที่มีไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ และผลของงานวิจัยมักเห็นได้ชัดและจับต้องได้ เช่น การประเมินผลข้างเคียงของยา, การศึกษาระบาดวิทยาของโรค เป็นต้น งานวิจัยอีกชนิดหนึ่ง คือ การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic/ fundamental research) เป็นการศึกษากลไกการเกิดโรคเพื่อนำไปสู่การป้องกัน วินิจฉัย และรักษาใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิด breakthrough เกี่ยวกับความรู้และการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น peptic ulcer ซึ่งใครจะคิดว่าโรคติดเชื้อ จนกระทั่ง Dr. Robin Warren และ Dr. Barry Marshall นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย พบว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่ผนังกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุของ peptic ulcer การค้นพบนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการรักษาครั้งใหญ่ จากเดิมรักษาโดยการลดกรอในกระเพาะอาหาร มาเป็นใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้ผู้ป่วย peptic ulcer จำนวนมากสามารถหายขาดจากการเป็นโรคนี้ได้ การค้นพบนี้นำไปสู่การมอบรางวัล Nobel Prize สาขาการแพทย์ในปี ค.ศ. 2005 แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบทั้งสอง [https://nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/2005/press.html](1)
ถึงแม้การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานจะมีผลกระทบ (impact) สูงต่อการเปลี่ยนแปลง แต่การดำเนินการวิจัยมักใช้เวลาและงบประมาณมาก และองค์ความรู้จากการวิจัยพื้นฐานยังไม่ถูกนำมาใช้ได้ในเชิงปฏิบัติมากพอหรือรวดเร็วเท่าที่ควร จนหลายครั้งเกิดคำถามว่าการวิจัยพื้นฐานมีความคุ้มทุนหรือไม่ และมีความจำเป็นต้องทำวิจัยทางด้านนี้หรือไม่ คำตอบก็คงมีหลากหลายตามทัศนคติของแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ได้เกิดมุมมองของการทำวิจัยในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อลดปัญหานี้ โดยส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ความรู้จากการวิจัยพื้นฐานให้เกิดประโยชน์ทางคลินิกมากขึ้น และนี่เองเป็นที่มาของการวิจัยที่เรียกว่า translational research ซึ่งเป็นกระบวนการเชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีอยู่มากมาย ไปสู่การแก้ปัญหาสาธารณสุขที่รวดเร็วและเหมาะสมอย่างเป็นระบบ(2)
ในรามาธิบดีเวชสารฉบับนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง แต่หลายจะหยิบยกเรื่องหนึ่งมาแนะนำ คือ เรื่อง An IgM Antibody Capture-Lattex Particles Adsorption Test (MAC-LA) for Detection of IgM Antibody to Rubella Infection ดำเนินการวิจัยโดย Pongtanapisit P. และ Kunakorn M. งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อพัฒนาชุดทดสอบและวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส rubella ในหญิงตั้งครรภ์ให้ได้เร็วขึ้น โดยตรวจหา IgM ต่อเชื้อดังกล่าวเพื่อให้การรักษาภาวะติดเชื้อนี้ได้ทัน เป็นการป้องกัน congenital malformation ของทารกแรกเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่แสดงอาการ (subclinical infection)(3, 4) เหตุผลที่ทำการวิจัยก็เพื่อหา alternative method สำหรับการตรวจหา anti-rubella IgM ที่มีประสิทธิภาพดี แทนการใช้ commercial test kit (IgM ELISA) ซึ่งมีราคาแพงมาก จริงๆ แล้วถือได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการวิจัยที่ควบรวม translational และ clinical research ไปด้วยกัน เพราะมีการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยา (IgM antibody) วัสดุศาสตร์ (Latex particle) และเทคนิคการตรวจ (MAC-LA) มาพัฒนาเป็นชุดทดสอบเลือด ทั้งยังมีการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ (Sensitivity, specificity) เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทางคลินิกได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่า commercial test kit
ประเทศไทยเรามีความต้องการงานวิจัยในลักษณะ translational research อีกมาก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านการวิจัยพื้นฐาน ในการตอบโจทย์ปัญหาคลินิกที่เป็นปัญหา อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเรา
References
Pincock S. Nobel Prize winners Robin Warren and Barry Marshall. Lancet. 2005;366(9495):1429. doi:10.1016/S0140-6736(05)67587-3.
Woolf SH. The meaning of translational research and why it matters. JAMA. 2008;299(2):211-3. doi:10.1001/jama.2007.26.
Kunakorn M, Petchclai B, Liemsuwan C. Laboratory diagnosis of congenital and maternal rubella infection: a review. J Med Assoc Thai. 1992;75 Suppl 1:282-7.
Drabu YJ, Walsh B, Huber TJ, Schlesinger P, Vijerathnam S, Hicks L. Maternal rubella: one problem in diagnosis and another in prevention. Lancet. 1987;2(8558):561-2. doi:10.1016/s0140-6736(87)92938-2.