ผลลัพธ์ของการเลิกสูบบุหรี่ในคลินิกผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลกุมภวาปี

ผู้แต่ง

  • นิภาภรณ์ อินทรสัตกุล โรงพยาบาลกุมภวาปี

คำสำคัญ:

การเลิกบุหรี่, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, ภาวะการติดนิโคติน, โรงพยาบาลกุมภวาปี

บทคัดย่อ

บทนำ: การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเลิกบุหรี่เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงเป็นที่มาของการศึกษาเพื่อวัดผลลัพธ์ของการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

วิธีดำเนินการวิจัย: เป็นการศึกษาแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในคลินิกผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 4 แห่ง และโรงพยาบาลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ที่เข้าคลินิกเลิกบุหรี่ ระหว่างตุลาคม 2559 – เมษายน 2560 โดยมีการเก็บข้อมูลทั่วไปก่อนเข้าคลินิกเลิกบุหรี่, วิเคราะห์อัตราการเลิกบุหรี่ระหว่างช่วง เวลาของการติดตามที่สัปดาห์ที่ 4, จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน, ระดับการติดนิโคตินโดยใช้แบบทดสอบ ฟาเกอร์สตรอม (Fagerstrom score), ความแตกต่างของระดับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลิกบุหรี่ (stage of change)

ผลการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างรวม 114 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 99.12) อายุเฉลี่ย 58.09 ปี (SD=11.69) มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูงร่วมกับเบาหวาน ร้อยละ 47.36 14.03 และ 27.19 ตามลำดับ มีผู้ป่วยไม่ทราบว่าโรงพยาบาลกุมภวาปี มีคลินิกเลิกบุหรี่ถึงร้อยละ 63.16 หลังจากเข้าคลินิกเลิกบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างมีอัตราการเลิกบุหรี่ที่สัปดาห์ที่ 4 ร้อยละ 21.05 จำนวนการสูบบุหรี่ลดลงจาก 9.97 เป็น4.01 มวนต่อวัน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.001) และมีระดับการเสพติดสารนิโคติน ลดลงจาก 3.50 เป็น 2.34 คะแนน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (p-value <0.001) ผู้ป่วยที่ได้รับคำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ อยู่ในระยะที่เริ่มมองเห็นปัญหา และมองถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแต่ยังไม่ได้คิดที่จะลงมือทำ

หลังเข้าคลินิกเลิกบุหรี่มีการปรับเปลี่ยนไปเป็นระยะเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร้อยละ 3.51 และเริ่มลงมือปฏิบัติในการเลิกบุหรี่ ร้อยละ 21.05

สรุป: คลินิกเลิกบุหรี่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ และมีระดับการติดสารนิโคตินลดลง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-27