ผลของการประคบเย็นก่อนการฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดในผู้ป่วยที่รักษาแผลเป็นนูน ในโรงพยาบาลอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • ปิยพร พูนประสิทธิ์ โรงพยาบาลอุดรธานี

คำสำคัญ:

การประคบเย็น, การฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูน, คะแนนความปวด

บทคัดย่อ

บทนำ แผลเป็นนูนเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน จากสถิติผู้ป่วยที่มารักษาแผลเป็นนูนที่โรงพยาบาลอุดรธานีและได้รับการรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามการฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูนมีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก และส่วนมากมักต้องมีการฉีดยามากกว่า 1 ครั้ง ผู้ป่วยบางรายไม่มารักษาต่อเนื่อง เนื่องจากทนความปวดไม่ไหว

วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบระดับความปวดของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูนระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับการประคบเย็น และศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการประคบเย็นก่อนฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูน

ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษากึ่งทดลอง ศึกษาในผู้ป่วยที่มารับการรักษาแผลเป็นนูน ที่โรงพยาบาลอุดรธานี และได้รับการรักษาแผลเป็นนูนด้วยการฉีดสเตียรอยด์ จำนวน 80 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 40 รายและกลุ่มทดลอง 40 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง 1 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2560

กลุ่มควบคุม ได้แก่ ผู้ป่วยที่มารับการรักษาแผลเป็นนูนด้วยการฉีดสเตียรอยด์ตามแนวทางปกติ ให้ผู้ป่วยประเมินค่าคะแนนความปวดก่อนขณะและหลังฉีดยา เก็บข้อมูล 1-31 กรกฎาคม 2560 จำนวน 40 ราย

กลุ่มทดลอง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มารับการรักษาแผลเป็นนูนด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูน ตามแนวทางปกติ แต่ก่อนฉีดยาจะประคบแผลเป็นด้วยเจลเย็นนาน 2 นาที แล้วจึงฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูนให้ผู้ป่วยประเมินค่าคะแนนความปวดก่อนขณะและหลังฉีดยา หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยประเมินความพึงพอใจในการใช้เจลประคบเย็นในการลดอาการปวด เก็บข้อมูล 1-31 สิงหาคม 2560 จำนวน 40 ราย

การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ใช้สถิติเชิงพรรณนาเปรียบเทียบค่าคะแนนความปวดเฉลี่ยก่อน ขณะ และหลังฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูน ในกลุ่มตัวอย่างเดียวกัน ใช้สถิติ paired t-test และระหว่างกลุ่มใช้สถิติ independent t-test

ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการประคบเย็นก่อนฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูน มีค่าคะแนนความปวดเฉลี่ยขณะฉีดต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับการประคบเย็นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และกลุ่มทดลองส่วนมากมีความพึงพอใจต่อการประคบเย็นก่อนฉีดยาในระดับมากถึงมากที่สุด

ข้อเสนอแนะ ควรมีการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติการพยาบาลในการประคบเย็นก่อนการฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็นนูนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจในบริการ และมารับบริการรักษาอย่างต่อเนื่อง

References

1. Medthai วิธีลบรอยแผลเป็น &คีลอยด์อย่างได้ผล [อินเตอร์เน็ต].เข้าถึงเมื่อ 20 มิ.ย. 2560. เข้าถึงได้จาก: https://medthai.com.
2. ห้องฉีดยาทำแผล แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุดรธานี. สถิติผู้มารับบริการห้องฉีดยาทำแผลแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุดรธานี 2557-2559.
3. สมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย. แนวทางการพัฒนาการระงับปวดเฉียบพลัน (Clinical Guidance for Management of Acute Postoperative Pain). กรุงเทพฯ: 2552.
4. Yagiz, A. Cold applications for the treatment of pain. Pain 2006; 18: 5-13. 5. นงลักษณ์ วิรัชชัย. เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “วิธีการที่ถูกต้องและทันสมัยในการกำหนดขนาดตัวอย่าง” ในโครงการ Research Zone จัดโดยศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัย ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัยสานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) วันที่ 26 มกราคม 2555 เวลา 9.00-12.00 น.
6. เสาวภา ไกรศรีวรรธนะ. การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการประเมินความปวดสำหรับผู้สูงอายุ หอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลอุดรธานี [วิทยานิพนธ์]. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2552.
7. ประภาพร ดองโพธิ์, นิยม มาชมพู, ฐิติกัญญ์ ชัยประสิทธิ์. ผลของการประคบเย็นเพื่อลดความปวดจากการถอดท่อระบายทรวงอกของผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด. ว.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 2559;1: 38-42.
8. เอื้องพร พิทักษ์สังข์. ผลการประคบเย็นต่อการลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยโรคตากระตุกที่ฉีดโบทูลินุมท็อคซิน ชนิด เอ. ว.พยาบาลศาสตร์ 2558; 33:61-67.
9. กิตติ์พงษ์ ชมพูพงษ์เกษม. ประสิทธิผลของการประคบแผ่นเจลเย็นก่อนการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในรอยแผลเพื่อลดอาการเจ็บปวดในการรักษาแผลเป็นนูน. ว.แพทย์เขต 4-5 2554; 30:359-69.
10. เพ็ญ กลกิจ, เรวดี สุราทะโก, กรรณิการ์คำเดียม. ผลการประคบเย็นต่อการลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยโรคตากระตุกที่ฉีดโบทูลินุมท็อกซินชนิด เอ.ว.พยาบาลศาสตร์ 2558; 33:61-7.
11. นิตยาปัญจมีดิถี, วัชรีย์ แสงมณี, นิตยา เพ็ชรรัตน์. ผลการประคบเยลลี่แช่เย็นต่อการลดความเจ็บปวดขณะได้รับการฉีดยาคล็อคซาซิลลินในผู้ป่วยเด็ก.สงขลานครินทร์เวชสาร 2546;21: 129-36.
12. สหัทยา ไพบูลย์วรชาติ. Pain assessment and measurement. เชียงใหม่: ภาควิชาวิสัญญี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2556.
13. จุรี คงเพชร, จิฬารัตน์ ปาณียะ. ผลการประคบด้วยถุงเจลแช่เย็นต่อการลดความปวดหลังผ่าตัดตกแต่งแก้ไขเปลือกตา. ว.เกื้อการุณย์ 2554; 18: 67-79.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-05