ประสิทธิผลการมอบหมายงานแบบเซลล์ต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก หอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • อรทัย ชาติโสม โรงพยาบาลอุดรธานี
  • ศรีสุดา พรมสีชา โรงพยาบาลอุดรธานี

คำสำคัญ:

หลอดเลือดสมอง, การมอบหมายงานแบบเซลล์, คุณภาพการดูแล

บทคัดย่อ

การมอบหมายงานที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้พยาบาลผู้ปฏิบัติสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ หอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาทเดิมมีการมอบหมายงานเป็นแบบทีมร่วมกับแบบตามหน้าที่ พบปัญหาคือพยาบาลมุ่งทำงานประจำมากกว่าการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ขาดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ผู้วิจัยจึงได้นำแนวทางการมอบหมายงานแบบเซลล์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย เพื่อศึกษาประสิทธิผลการมอบหมายงานแบบเซลล์ต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกหอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลอุดรธานี

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง (Quasi-experiment) กลุ่มตัวอย่าง มี 3 กลุ่มได้แก่ 1) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกทั้งก่อนและหลังการมอบหมายงานแบบเซลล์ จัดเป็นกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลองจำนวนกลุ่มละ 45 ราย 2)ผู้ดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการมอบหมายงานแบบเซลล์ จำนวนกลุ่มละ 45 คน และ 3)พยาบาลที่ปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาทจำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่แนวทางกามอบหมายงานแบบเซลล์ แบบทดสอบความรู้ของผู้ดูแลผู้ป่วย แบบประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (Barthel Index) และแบบประเมินความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งแบบทดสอบความรู้และแบบประเมินความพึงพอใจ ผ่านการตรวจสอบความตรงโดยผู้เชี่ยวชาญและทดสอบค่าความเชื่อมั่นของครอนบาค มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.85 และแบบประเมินความพึงพอใจ เท่ากับ 0.90 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และประเมินสังเกตกลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 15 กรกฎาคม 2558 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และการทดสอบค่าที(Paired t-test) โดยใช้โปรแกรม SPSS

ผลการศึกษา : ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลองคล้ายคลึงกัน ผลการใช้การมอบหมายงานแบบเซลล์ พบว่า 1) ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้นจากวันแรกรับ 15.3 เพิ่มเป็น 20.1 ในวันจำหน่าย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2) ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้เฉลี่ยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองในวันจำหน่าย 8.8 คะแนน สูงกว่ากลุ่มญาติผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปรียบเทียบ 5.2 คะแนน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.05 และ 3) พยาบาลวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกหลังจากปรับมาใช้การมอบหมายงานแบบเซลล์ มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 29.5 เป็น 34.3 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

สรุป : ควรส่งเสริมให้มีการมอบหมายงานแบบเซลล์ ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาท อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และควรขยายการนำไปใช้ในหอผู้ป่วยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และจากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่1(ผู้ป่วย)ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นควรส่งเสริมให้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในสถานพยาบาลทุกแห่ง

References

1. นุกูล ตะบูนพงศ์, ช่อลดา พันธุเสนา, นิตยา ตากวิริยะนันท์. ภูมิหลังปัญหาของผู้ป่วยโรค
หลอดเลือดสมอง. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2537;14(4):13-22.

2. นิพนธ์ พวงวรินทร์, อดุลย์ วิริยะเวชกุล. Acute Stroke Management. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:เรือนแก้วการพิมพ์;2554.

3. กิติยา เตชะไพโรจน์ และคณะ. การพัฒนารูปแบบการมอบหมายงานผู้ป่วนในโรงพยาบาลอุดรธานี.รายงานการวิจัย 1. 2558.

4. สมหมาย คชนาม. เอกสารประกอบการอบรมวิจัย สำหรับบุคลากรโรงพยาบาลอุดรธานี. 2558.

5. The Barthel index of activities of daily living (cited 28 December 2557).Avail from www.dms.moph.go.th/dmsweb/kmdms/link_km/Hemorrhagic Stroke/ภาคผนวก.doc.

6. ดวงจันทร์ ทิพย์ปรีชา, พูลสุข หิงคานนท์. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในระบบบริการพยาบาล. ใน: การพัฒนาศักยภาพระบบบริการพยาบาล หน่วยที่ 7. นนทบุรี:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2549.หน้า 7-39.

7. ฐิรพร อัศววิศรุต, สมใจ พุทธาพิทักษ์ผล, รุ้งรังษี วิบูลย์ชัย. การพัฒนารูปแบบการมอบหมายงานในหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลยโสธร.วารสารกองการพยาบาล 2557 ; 41(2) : 54-71.

8. อรพิน บุษบัน. การพัฒนาระบบพยาบาลเจ้าของไข้ แผนกศัลยกรรม โรพยาบาลระดับตติยภูมิในจังหวัดราชบุรี. [วิทยานิพนธ์หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพยาบาลบัณฑิตวิทยาลัย] มหาวิทยาลัยคริสเตียน: 2557.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-02-06