ประเมินผลการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิที่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามการรับรู้ของประชาชนที่เคยใช้บริการ

ผู้แต่ง

  • มณีรัตน์ ปัจจะวงษ์ โรงพยาบาลอุดรธานี
  • ปิยะนุช พรหมสาขา ณ สกลนคร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี

คำสำคัญ:

บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิ, เกณฑ์มาตรฐานบริการปฐมภูมิ, รพ.สต.ติดดาว

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิที่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน (รพ.สต.ติดดาว) จำนวน 32 แห่ง โดยสอบถามประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เคยใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายโรงพยาบาลอุดรธานี เก็บข้อมูลระหว่างเดือน มีนาคม ถึงกันยายน พ.ศ.2561 สุ่มตัวอย่างแบบสุ่มเลือกอย่างเป็นระบบโดยแบ่งกลุ่มตามขนาดของหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,660 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามประเมินการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีอัลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.92 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความคิดเห็นบางส่วนเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้กระบวนการตีความเพื่อการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัย  พบว่า กลุ่มตัวอย่างรับรู้ถึงการพัฒนาของหน่วยบริการปฐมภูมิ ในเรื่องสถานที่ บุคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัย เหตุผลที่มาใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เพราะความสะดวกในการเดินทาง ไม่แออัด บริการรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เก่ง/ทำงานดี สนิทคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ มีแพทย์มาตรวจ และมียาจ่ายให้ เหมือนที่ได้รับจากโรงพยาบาล ความคาดหวังคือ อยากให้มีแพทย์มาตรวจประจำ เจ้าหน้าที่พูดจาไพเราะกับคนไข้และเปิดบริการช่วงเช้าตรู่และช่วงเที่ยงเพิ่มหากทำได้ ส่วนความพึงพอใจใน 3 ด้านของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า 1) ด้านพฤติกรรมการให้บริการของพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ในระดับมาก (x̄=4.32, S.D. 0.62) 2) ด้านการให้บริการทั้งในสถานบริการและในชุมชนอยู่ในระดับมาก (x̄=4.01,       S.D. 0.69) และ 3) ด้านการจัดระบบบริการอยู่ในระดับปานกลาง (x̄=3.53, S.D. 0.75)

ข้อเสนอแนะ การประเมินผลการพัฒนาจากมุมมองของผู้รับบริการจะทำให้ทราบผลการพัฒนาที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่แท้จริง การวิจัยนี้ช่วยยืนยัน แนวคิดการจัดบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจในหน่วยบริการปฐมภูมิ จึงควรทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเน้นบริการเชิงรุกในชุมชนควบคู่กับการพัฒนาบริการตามเกณฑ์มาตรฐานของบริการปฐมภูมิ และเชื่อมโยงบริการระหว่าง รพ.สต. กับรพ.แม่ข่ายให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่าย ส่งต่อได้ไว หากบริการปฐมภูมิเข้มแข็งจะทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลได้

 

References

1. สตางค์ ศุภผล. Primary care บริการปฐมภูมิ บริการที่ใกล้ใจ ใกล้บ้าน.[อินเทอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: http//www.thaiichr.org/upload/forum/PCFM01.pdf.
2. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. เกณฑ์ประเมินคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายบริการปฐมภูมิ. มปท; 2554. เอกสารอัดสำเนา.
3. กระทรวงสาธารณสุข กองยุทธศาสตร์และแผนงาน. เกณฑ์ประเมินโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ติดดาว (รพ.สต.ติดดาว). [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 10 มกราคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http//www.ylo.moph.go.th/webssj/file 2018/d26122560-1 pdf.
4. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กองการพยาบาล. แนวทางการจัดเก็บตัวชี้วัดการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล ประจำปีงบประมาณ 2561. กรุงเทพฯ: สื่อตะวัน; 2561.
5. ธีระ วรธนารัตน์, ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์, ณัฐพล แย้มฉิม, พิมชนก สิงหา, มณฑิชา เจนพานิชย์ทรัพย์,ปณัชช์ฐิตา ผากานนท์. โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบและระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง:กรณีศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2559. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.). [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/4457/hs2270.pdf?sequence=3&isAllowed=y.
6. อรทัย มานะธุระ. การให้บริการปฐมภูมิของเครือข่ายบริการสุขภาพจากมุมมองผู้รับบริการ อําเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา. ว.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา 2555;18(1): 17-28.
7. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,ประชาธิป กะทา. สุขภาพปฐมภูมิบริการปฐมภูมิจากปรัชญาสู่การปฏิบัติการสุขภาพมิติใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มีดีกราฟฟิค; 2551.
8. Starfield, B. Primary care concept: Evaluation and Policy. Rev ed. England: Oxford University; 1998.
9. คัทลิยา วสุธาดา. การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเพื่อลดระยะเวลารอคอยการรับบริการในผู้ป่วยโรคเรื้อรังศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองท่าช้าง จังหวัดจันทบุรี. ว.วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี 2560; 28(1): 80-89.
10. กิติศักดิ์ ด่านวิบูลย์, พิสิฐ อินทรวงษ์โชติ, มณีวรรณ ตั้งขจรศักดิ์, เสาวลักษณ์ สัจจา.ประสิทธิผลการพัฒนาระบบบริการงานผู้ป่วยนอกและหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่าย โรงพยาบาลหนองคาย. ว.ศูนย์การศึกษาแพทยศาสตรคลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า 2556; 30(1): 56-70.
11. สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ. คู่มือแนวทางการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลติดดาว(รพ.สต.ติดดาว) ปี 2562. [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://cro.moph.go.th/cppho/download/969_2612 2018.pdf

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30