การพยาบาลการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายเพื่อการผ่าตัดต่อมธัยมัสในผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนียเกรวิส: กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • ศิริวรรณ อาจบุราย กลุ่มงานวิสัญญีพยาบาล กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลบุรีรัมย์
  • ณรงค์กร ชัยวงศ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

คำสำคัญ:

การพยาบาล, การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่าง, ผ่าตัดต่อมธัยมัส, โรคมัยแอสทีเนียเกรวิส

บทคัดย่อ

             การผ่าตัดต่อมธัยมัส (Thymectomy) เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนียเกรวิส (Myasthenia gravis) บทบาทพยาบาลวิสัญญีในการให้การระงับความรู้สึกผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความซับซ้อนและมีความสำคัญเริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมผู้ป่วยด้านร่างกาย จิตใจ การเตรียมและจัดหาอุปกรณ์เฝ้าระวังในการให้ยาระงับความรู้สึก และหลังผ่าตัดการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน การระงับปวดที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะคุกคามชีวิตและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน สามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อไป บทความนี้เป็นการศึกษาข้อมูลรายกรณี (case study) มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาปัญหาและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนียเกรวิสที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายเพื่อการผ่าตัดต่อมธัยมัส กลุ่มงานการพยาบาลวิสัญญี แผนกศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียน ผู้ป่วย 1 ราย ที่เข้ารับการผ่าตัดในเดือนกันยายน 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบบันทึกรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย 2) แบบบันทึกการประเมินแบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนและ 3) แบบบันทึกการแผนการพยาบาล

          ผลการศึกษา ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 37 ปี แพทย์วินิจฉัยโรค generalized Myasthenia gravis Stage 2B         มาตามนัดเพื่อผ่าตัดต่อมธัยมัสโดยการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่าง แบ่งการดูแลด้านการพยาบาลวิสัญญีออกเป็น          3 ระยะ คือ ระยะก่อน ระหว่าง และหลังให้ยาระงับความรู้สึก ในระยะก่อนให้ยาระงับความรู้สึกผู้ป่วยพบปัญหา ดังนี้ 1) วิตกกังวล เนื่องจากขาดความรู้ในการปฏิบัติตัวก่อนและหลังการให้ยาระงับความรู้สึก 2) มีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน เนื่องจากงดยากดภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด ปัญหาในระหว่างระงับความรู้สึก ได้แก่ 1) เสี่ยงต่อภาวะช่วยหายใจและใส่ท่อช่วยหายใจยาก เนื่องจากความผิดปกติทางสรีระของผู้ป่วย 2) เสี่ยงต่อภาวะหลอดลมหดเกร็งเฉียบพลัน เนื่องจากกล้ามเนื้อหย่อนตัวไม่ดีพอ 3) มีโอกาสเกิดการภาวะตื่น (awareness) ขณะผ่าตัดเนื่องจากร่างกายมีการตอบสนองต่อยาหย่อนกล้ามเนื้อไม่แน่นอน 4) เสี่ยงต่อภาวะอุณหภูมิกายต่ำขณะผ่าตัด และปัญหาที่พบระยะหลังให้ยาระงับความรู้สึก ได้แก่ 1) เสี่ยงต่อภาวะการหายใจไม่มีประสิทธิภาพภายหลังผ่าตัด 2) มีโอกาสเกิดการหายใจไม่เพียงพอภายหลังถอดท่อช่วยหายใจ 3) ไม่สุขสบายปวดแผลผ่าตัดบริเวณหน้าอก

          การประเมินผลหลังให้การพยาบาลพบว่า ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด ความวิตกกังวลลดลง มีความพร้อมในการผ่าตัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ขณะผ่าตัดไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน สัญญาณชีพคงที่ ส่วนระยะหลังผ่าตัด ผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ เนื่องจากแบบแผนการหายใจไม่มีประสิทธิภาพ โดยหายใจตื้นและช้าจากการปวดแผลผ่าตัด ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยการจัดการความปวดแบบผสมผสานและสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้ อาการดีขึ้นจำหน่ายกลับบ้าน รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาล 10 วัน

References

Bradley, EG. & Adam SDR. Myasthenia Gravis, neuromuscular junction disorders and

episodic muscular weakness. New York : MaGraw-Hill international book company; 1983.

Papatestas, AE. Genkins, G. Kornteid, P. et al. Effect of thymectomy in Myasthenia

Gravis. Ann Surg 1987; 206(1) : 79-88

งานสถิติศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลบุรีรัมย์. สถิติศัลยกรรมทรวงอก. บุรีรัมย์ : งานสถิติศัลยกรรม

ทรวงอก โรงพยาบาลบุรีรัมย์; 2566.

King, I. M. A theory for nursing: Systems, Concept, Process. New York : A Wiley medical publication; 1981

วินิตา เฝ้าสันเทียะ และคณะ. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดไมแอสทีเนียกราวิส. ว. เภสัชศาสตร์อีสาน 2561; 14 (14) : 17-24

Mishel, M.H. Uncertainty in Illness. Journal Annual Review of Nursing Scholarship 1998;

(4) : 225-232

ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร. Standard Treatment in Myasthenia Gravis. Thai Journal of

Neurology 2017; 3(33) : 1-8

พจนีย์ จันทร์คำ. การศึกษาย้อนหลังเป็นเวลา 10 ปี ในผู้ป่วยมายแอสทีเนีย เกรวิส ที่ได้รับการ

ผ่าตัดต่อมไทมัสออก ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี 2552; สืบค้นวันที่ 20 ตุลาคม 2566 เข้าถึงได้จากhttps://www.rama.mahidol.ac.th/nursing/sites/default/files/public/journal/2542/issue_01/07.pdf

มนสิชา สมจิตร และคณะ. การศึกษาเปรียบเทียบอุณหภูมิแกนของผู้ป่วยที่ใช้ Forced-Air Warming.

ศรีนครินทร์เวชสาร 2564; 36(4).

กัสมา นิยมพานิชพัฒนา. การดูแลต่อเนื่องอย่างปลอดภัยในห้องพักฟื้น.ใน วิมลรัตน์ ศรีราช, อรลักษณ์

รอดอนันต์ (บ.ก.), ก้าวไกลวิสัญญี 4.0. กรุงเทพฯ : ธนาเพลส จำกัด; 2562.

มาร์วิน เทพโสพรรณ พิพัฒน์ แซ่ยับ พรพรรณ เฉลิมกิจพานิชย์ และคณะ. การระงับปวดเฉียบพลัน.

การระงับปวดเฉียบพลันแบบสหสาขา. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์ จำกัด; 2565.

ศิริลักษณ์ สุขสมปอง. การระงับปวดสำหรับการผ่าทรวงอก : แบบเปิด และแบบผ่านกล้อง. การระงับ

ปวดเฉียบพลัน Acute Pain Management. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด; 2562.

Paul, G. et. al. Clinical Anesthesia (6thed). Wolters Kluwer : Lippincott Williams &

Wilkins; 2009.

บุศรา ศิริวันสาณฑ์ พิชยา ไวทยะวิญญู นฤนาท โลมะรัตน์. Anesthesia & Perioperative Care

(ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด; 2563.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-30