ผลของการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการให้คำปรึกษาต่อความรู้และความวิตกกังวลในนักศึกษาพยาบาล
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการให้คำปรึกษาต่อความรู้เรื่องการให้คำปรึกษาและความวิตกกังวลเรื่องความรู้และความสามารถในการให้คำปรึกษาของนักศึกษาพยาบาล
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นงานวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 จำนวน 77 คน จากโรงเรียนพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กลุ่มตัวอย่างถูกเลือกเข้าร่วมวิจัยแบบเจาะจงตามเกณฑ์คัดเข้า แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม (n = 39) และกลุ่มทดลอง (n = 38) กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองได้รับการสอนแบบบรรยายเรื่องการให้การปรึกษา 1 ชั่วโมงในห้องเรียน นอกจากนั้นกลุ่มทดลองได้ศึกษาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการให้คำปรึกษาด้วยตนเอง เครื่องมือวิจัย ประกอบด้วย (1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการให้การปรึกษา (2) แบบทดสอบความรู้เรื่องการให้คำปรึกษา และ (3) แบบวัดความวิตกกังวลที่สร้างโดยผู้วิจัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย Mann-Whitney U test และ independent t-test
ผลการศึกษา:
ผลต่างคะแนนก่อนและหลังการทดลอง ของคะแนนความรู้เรื่องการให้คำปรึกษา ความวิตกกังวลเรื่องความรู้ในการให้คำปรึกษา ความวิตกกังวลเรื่องความสามารถและความวิตกกังวลโดยรวมในการให้คำปรึกษา ของกลุ่มทดลองต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01)
สรุป: จากผลการศึกษาครั้งนี้อาจารย์ผู้สอนอาจพิจารณานำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องการ
ให้คำปรึกษา เพื่อเพิ่มความรู้เรื่องการให้คำปรึกษาและลดความวิตกกังวลเรื่องความรู้และความสามารถในการให้คำปรึกษาของนักศึกษาก่อนขึ้นฝึกวิชาปฏิบัติการพยาบาลจิตเวช
Article Details
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย