การพัฒนาโปรแกรมการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกการควบคุมตนเองในผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : 1) เพื่อพัฒนาโปรแกรมการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกการควบคุมตนเองในผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง และ 2) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมฯ
วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย ขั้นตอนการวิเคราะห์สถานการณ์ การพัฒนาโปรแกรม ฯ และการทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมฯ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์คัดเข้า จำนวน 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมฯ จำนวน 25 คนและกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ จำนวน 25 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย 1) โปรแกรมการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกการควบคุมตนเองในผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง 2) แบบประเมินความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมรุนแรง 3) แบบประเมินการควบคุมตนเอง 4) แบบประเมินพฤติกรรมรุนแรง และ 5) แบบประเมินการรับรู้ของพยาบาลต่อประโยชน์ของโปรแกรมฯ ซึ่งเครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน และทดสอบความเชื่อมั่นได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคของเครื่องมือลำดับที่ 2 – 5 เท่ากับ .70, .71, .88, และ.76 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย การทดสอบของฟิชเชอร์ การทดสอบไคสแควร์ สถิติทีชนิดที่เป็นอิสระต่อกัน และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ
ผลการศึกษา : 1) โปรแกรมการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกการควบคุมตนเองในผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดำเนินกิจกรรมแบบกลุ่มบำบัดในโรงพยาบาล ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ค่าความสอดคล้องระหว่างเนื้อหากิจกรรมและวัตถุประสงค์ เท่ากับ 1 และผลการประเมินการรับรู้ต่อประโยชน์ของโปรแกรมฯ ของพยาบาลในการนำโปรแกรมฯ ไปใช้ ระดับมาก - มากที่สุด ร้อยละ 90.57 2) ผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ พบว่าคะแนนเฉลี่ยความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมรุนแรง คะแนนเฉลี่ยการควบคุมตนเอง และคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมรุนแรงระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และมีความแตกต่างกันระหว่างระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลองทันที และระยะติดตามผล 1 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณพบว่า คะแนนเฉลี่ยความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมรุนแรง และคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมรุนแรง ในระยะหลังการทดลองทันที และระยะติดตามผล 1 เดือนต่ำกว่าในระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และพบว่าคะแนนเฉลี่ยการควบคุมตนเองในระยะหลังการทดลองทันที และระยะติดตามผล 1 เดือนสูงกว่าในระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)
สรุป : โปรแกรมฯ มีผลให้ความคิดและพฤติกรรมต่อพฤติกรรมรุนแรง การควบคุมตนเอง และพฤติกรรมรุนแรงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบำบัดทางการพยาบาลที่จะนำไปใช้ในระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย