การพัฒนาโปรแกรมการพยาบาลด้านจิตสังคมสำหรับผู้ป่วยวัยรุ่นออทิสติกที่มีภาวะซึมเศร้า

Main Article Content

พรทิพย์ ธรรมวงค์
สุนทรี ศรีโกไสย
ภานิชา วงศ์เขียว

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพด้านความเที่ยงตรงตามเนื้อหาของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นและ 2) ประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมฯ


                วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาโดยใช้กระบวนการพัฒนาและตรวจสอบการพัฒนาของแวน เมเจล, กาเมล, แวน สวีเทน แดเฟส และกริฟดอนค์ (Van Meijel, Gamel, Van Swieten Duijfjes, & Grypdonck, 2004) 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) กำหนดปัญหาโดยการทบทวนด้านการดูแล บันทึกเวชระเบียน บันทึกการพยาบาลและผลการนิเทศ 2) สำรวจความต้องการ เนื้อหา และกิจกรรมที่ต้องการพัฒนาโปรแกรมฯ โดยทบทวนองค์ความรู้ในปัจจุบัน และสัมภาษณ์เชิงลึก พยาบาลวิชาชีพผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ป่วยวัยรุ่นออทิสติกที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สนทนากลุ่มผู้ปกครอง พยาบาลวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยวัยรุ่นออทิสติก 3) ออกแบบโปรแกรม ฯ โดยนำแนวคิดการดูแลด้านจิตสังคมของสถาบันการแพทย์ของอเมริกา (Institute of Medicine of the National Academies, 2015) ร่วมกับข้อมูลที่พบจากการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการและช่องว่างการปฏิบัติงาน มาบูรณาการและกำหนดขอบเขต เนื้อหารายละเอียดของกิจกรรม 4) ตรวจสอบความตรงของโปรแกรม ฯ ด้วยการประเมินความสอดคล้องโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ประเมินความเหมาะสมของภาษา ระยะเวลา ขั้นตอน สื่อที่ใช้ในโปรแกรมฯ ความเป็นไปได้ การยอมรับ ความพึงพอใจและปัญหาอุปสรรคต่อโปรแกรม โดยพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 5 คน 5) ทดสอบผลของโปรแกรมฯ ด้วยการวิจัยกึ่งทดลองวัดก่อนและหลังการได้รับโปรแกรมฯ เสร็จสิ้นทันที และติดตามผล 1 เดือน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมฯ ร่วมกับการได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มควบคุมได้เข้าร่วมกิจกรรมตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยวัยรุ่นออทิสติกที่มีภาวะซึมเศร้าและผู้ปกครอง จำนวน 22 คน คัดเลือกเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองตามเกณฑ์การคัดเข้า กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมฯ ร่วมกับการได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มควบคุมเข้าร่วมกิจกรรมตามปกติโดยเก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มควบคุมก่อนหลังจากเสร็จสิ้นแล้วจึงเก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มทดลอง เครื่องมือที่ใช้วัดผลลัพธ์ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะซึมเศร้าในเด็ก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และ Repeated Measure ANOVA


                ผลการศึกษา : โปรแกรมการพยาบาลด้านจิตสังคมสำหรับผู้ป่วยวัยรุ่นออทิสติกที่มีภาวะซึมเศร้า ประกอบด้วย 6 กิจกรรม ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพ สุขภาพจิตศึกษาและการฝึกผู้ปกครอง การบำบัดตามแนวการฝึกสติ การฝึกทักษะการผ่อนคลาย การฝึกทักษะทางสังคม (ทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหา) และการฝึกผู้ปกครอง เป็นโปรแกรมรายบุคคลจำนวน 8 ครั้ง โดยมีผู้ปกครองเข้าร่วมด้วยจำนวน 2 ครั้ง โปรแกรมนี้ได้รับการยอมรับและ มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในคลินิกในระดับมากที่สุดด้านรูปแบบ เนื้อหา การนําเสนอกิจกรรมตามโปรแกรมฯ ความเชื่อมโยงต่อเนื่อง ระยะเวลา ความชัดเจนของสื่อการสอน โปรแกรมมีผลดีต่อการดูแลด้านจิตสังคม ความสะดวกต่อการนำไปใช้ได้จริง และผลลัพธ์ทางคลินิก ผลการประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมพบว่าคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมฯ และในระยะติดตามผล 1 เดือน ลดลงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลปกติ คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 ภายหลังเสร็จสิ้นการทดลองทันที และในระยะติดตามผล 1 เดือน และโปรแกรม ฯ กับช่วงเวลาที่วัดผลลัพธ์มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01


                สรุป : โปรแกรม ฯ นี้ สามารถลดภาวะซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างทันทีและในระยะ 1 เดือน จึงเป็นทางเลือกสำหรับพยาบาลจิตเวชในการให้การพยาบาลที่สามารถทำได้โดยอิสระ เพื่อให้การพยาบาลด้านจิตสังคมอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพแก่ผู้ป่วยออทิสติก

Article Details

บท
บทความวิจัย