ความสัมพันธ์ระหว่างความแข็งแกร่งในชีวิต ปัญหาการฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย และแรงสนับสนุนทางสังคม กับความเครียดของนักศึกษาพยาบาล

Main Article Content

อัจฉราพรรณ วงษ์น้อย
พัชรินทร์ นินทจันทร์
โสภิณ แสงอ่อน

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : การวิจัยแบบบรรยายความสัมพันธ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความแข็งแกร่งในชีวิต ปัญหาการฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย และแรงสนับสนุนทางสังคม กับความเครียดของนักศึกษาพยาบาล


                วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 และ 4 หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ของสถาบันการศึกษาพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคกลาง ที่ผ่านการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 168 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดการรับรู้ความเครียด แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต แบบสอบถามปัญหาการฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยตามความคิดเห็นของนักศึกษาพยาบาล และแบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน


                ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่า ความแข็งแกร่งในชีวิตและแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.36, p = .000; r = -.42, p = .000 ตามลำดับ) ปัญหาการฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเครียด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .28, p = .000)


                สรุป : ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชีวิต การตระหนักถึงแหล่งสนับสนุนทางสังคมที่มีอยู่  และการจัดการกับปัญหาการฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันหรือลดความเครียดในนักศึกษาพยาบาล

Article Details

บท
บทความวิจัย