ผลของโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมโดยประยุกต์แนวคิดหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ ต่อการป้องกันการกลับไปเสพซ้ำในผู้ป่วยพระราชบัญญัติยาเสพติด โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Main Article Content

พรรณี แสงหิรัญ
จริญญา แก้วสกุลทอง
มธุรดา บรรจงการ

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมโดยประยุกต์แนวคิดหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ ต่อการป้องกันการกลับไปเสพซ้ำในผู้ป่วยพระราชบัญญัติยาเสพติด โรงพยาบาลสวนสราญรมย์  และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำของผู้ป่วยที่เข้าระบบบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามผล 1 เดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง


                วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดในศูนย์สาธิตจิตสังคมบำบัด โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จำนวน 44 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์การคัดเข้า ทำการสุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลอง 22 ราย และกลุ่มควบคุม 22 ราย ซึ่งเก็บข้อมูล 3 ครั้งในช่วงก่อน-หลังเข้าร่วมโปรแกรม และระยะติดตาม 1 เดือนหลังเข้าร่วมโปรแกรม กลุ่มทดลองจะได้เข้าร่วมโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมโดยประยุกต์แนวคิดหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำ ซึ่งโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมโดยประยุกต์แนวคิดหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ ได้ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน และแบบประเมินการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำ มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .92 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาสถิติทดสอบทีชนิดไม่เป็นอิสระต่อกัน และชนิดเป็นอิสระต่อกัน และวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ


                ผลการศึกษา : 1) คะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำของกลุ่มทดลองหลังเข้าร่วมโปรแกรมทันที และระยะติดตาม 1 เดือนหลังสิ้นสุดโปรแกรม (เฉลี่ย = 146.22, SD = 14.07) (เฉลี่ย = 149.50, SD = 14.56) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังเข้าร่วมโปรแกรมทันทีและระยะติดตาม 1 เดือนหลังสิ้นสุดโปรแกรมมีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม 2) คะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในระยะก่อนการทดลอง พบว่าไม่แตกต่างกัน และหลังการทดลองเสร็จสิ้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำหลังการทดลองเสร็จสิ้นสูงกว่ากลุ่มควบคุม (เฉลี่ย = 146.22, SD = 14.07) (เฉลี่ย = 132.68, SD = 25.02) และระยะติดตาม 1 เดือน หลังการทดลองเสร็จสิ้นกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม (เฉลี่ย = 149.50, SD = 14.56) (เฉลี่ย = 124.81, SD = 15.52)


                สรุป : โปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมโดยประยุกต์แนวคิดหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ สามารถส่งเสริมการรับรู้ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเสพติดซ้ำของผู้ติดยาเสพติดได้ จึงควรสนับสนุนให้มีการนำโปรแกรมไปใช้ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดป้องกันตนเองจากการเสพติดซ้ำและยืดเวลาในการกลับไปเสพติดซ้ำให้ยาวนานขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

จริญญา แก้วสกุลทอง, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี

สาขาการพยาบลสุขภาพจิตและจิตเวช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี