ปัจจัยทำนายความวิตกกังวลของวัยรุ่นด้อยโอกาสไทยในจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ

Main Article Content

นันทิยา เอกอธิคมกิจ
พัชรินทร์ นินทจันทร์
นฤมล สมรรคเสวี

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความวิตกกังวลของวัยรุ่นด้อยโอกาสไทยในจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ


                วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แห่งหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทยจำนวน 337 คน เลือกตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยแบบสอบถามจำนวน 5 ชุด ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบวัดสุขภาพจิตคนไทย (ด้านความวิตกกังวล) 3) แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต 4) แบบประเมินเหตุการณ์ที่สร้างความยุ่งยากใจ และ 5) แบบประเมินความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคม ทดสอบความเชื่อมั่นได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคของเครื่องมือลำดับที่ 2 - 5 มีค่าเท่ากับ .73, .86, .95,  และ .85 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อันดับของสเปียร์แมน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน


                ผลการศึกษา : ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่า เหตุการณ์ที่สร้างความยุ่งยากใจมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความวิตกกังวลของวัยรุ่นด้อยโอกาสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .484, p = .000) ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและความแข็งแกร่งในชีวิตมีความสัมพันธ์ทางลบกับความวิตกกังวลของวัยรุ่นด้อยโอกาสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.324, p = .000; r = -.166, p = .002 ตามลำดับ) เหตุการณ์ที่สร้างความยุ่งยากใจ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และความแข็งแกร่งในชีวิตร่วมกันทำนายความแปรปรวนของความวิตกกังวลของวัยรุ่นด้อยโอกาสได้ร้อยละ 28.1 โดยที่เหตุการณ์ที่สร้างความยุ่งยากใจเป็นปัจจัยที่มีอำนาจทำนายสูงที่สุด (β = .410, p = .000) รองลงมาคือ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (β = -.182, p = .000) และ ความแข็งแกร่งในชีวิต (β = -.130, p = .006) ตามลำดับ


                สรุป : ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ น่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อป้องกันหรือลดความวิตกกังวลในวัยรุ่นด้อยโอกาส

Article Details

บท
บทความวิจัย