ผลของโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ และเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท ระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์กับกลุ่มได้รับการดูแลตามปกติ
วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยจิตเภท อายุ 20-59 ปี จำนวน 52 คน สุ่มเลือกจากโรงพยาบาลพุทธโสธรในประเทศไทย และสุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 26 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมในโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ จำนวน 6 ครั้ง ๆ ละ 90 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ที่มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าครอนบราค เท่ากับ 0.87 วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง ใช้สถิติพรรณนา คำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตของกลุ่มทดลองก่อนและหลังการทดลองและเปรียบทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิต ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์และการพยาบาลตามปกติ โดยใช้สถิติทดสอบค่าที
ผลการศึกษา : 1) ค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทภายหลังได้รับโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ (mean = 76.61, SD = 4.39) สูงกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตก่อนได้รับโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ (mean = 62.26, SD = 5.27) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 11.74, p < .001), 2) ผลต่างค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับโปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ ก่อนและหลังการทดลอง ( =14.35, SD= 0.88) มากกว่าผลต่างค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ ( = 7.12, SD = 1.48) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 4.921, p < .001)
สรุป : โปรแกรมการควบคุมความสัมพันธ์ โดยประยุกต์แนวคิดการควบคุมความสัมพันธ์ ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 6 องค์ประกอบ สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยจิตเภทได้ จึงควรสนับสนุนให้มีการนำโปรแกรมไปใช้เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเภทมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย