การส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียนประถมศึกษา: มุมมองและความต้องการของนักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน

Main Article Content

วไลลักษณ์ พุ่มพวง
พวงเพชร เกษรสมุทร
สุภาภัค เภตราสุวรรณ
ฐินีรัตน์ ถาวร
วารีรัตน์ ถาน้อย
สาธกา พิมพ์รุณ
สุดารัตน์ เพียรชอบ

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายมุมมองและความต้องการของนักเรียน ครู และผู้บริหารเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียนประถมศึกษา


               วิธีการศึกษา : กลุ่มผู้ให้ข้อมูลมีจำนวน 42 คน เป็นนักเรียน 30 คน ครู 9 คน และผู้บริหาร 3 คน จากโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เก็บข้อมูลเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง พร้อมทั้งบันทึกเทปและบันทึกภาคสนาม ใช้วิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา


               ผลการศึกษา : พบมุมมองที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะทางใจและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน ครู และผู้บริหารเป็นไปในทิศทางสอดคล้องกัน โดยมีมุมมองสำคัญ ดังนี้ 1) ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีและไม่ดี โดยผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีมีการแสดงออกทางความคิด อารมณ์จิตใจ และพฤติกรรมของผู้มีความสุข ส่วนผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ไม่ดีมีลักษณะของผู้มีความทุกข์ 2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางใจ ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียน การทำกิจกรรมที่ชอบ การถูกทำโทษ การรังแกกัน การใช้เทคโนโลยี เป็นต้น 3) วิธีการเผชิญปัญหาของนักเรียน มีทั้งแบบมุ่งจัดการอารมณ์และจัดการปัญหา ซึ่งครูและผู้บริหารมีส่วนช่วยนักเรียนโดยสร้างความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ ใช้การสอนและยกตัวอย่าง เป็นต้น และความต้องการในการส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียน ได้แก่ การมีกิจกรรมระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ


               สรุป : ความต้องการในการส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียนประถมศึกษาเป็นสิ่งที่บุคลากรทางสุขภาพจิตควรให้ความสำคัญ การจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนประถมศึกษาควรมีกิจกรรมที่สามารถป้องกันปัญหาทั้งระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิและสามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางใจของนักเรียนได้

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

วไลลักษณ์ พุ่มพวง, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Department of Mental Health and Psychiatric Nursing, Faculty of Nursing, Mahidol University