ผลของภาวะซึมเศร้าและประสบการณ์การเผชิญเหตุการณ์รบกวนใจต่อการฆ่าตัวตายของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนขยายโอกาส จังหวัดนครศรีธรรมราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : การวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้า ประสบการณ์การเผชิญเหตุการณ์รบกวนใจ ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และปัจจัยทำนายความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของนักเรียน
วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบชั้นภูมิจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนขยายโอกาส จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 421 ราย เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น แบบประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และแบบวัดประสบการณ์การเผชิญเหตุการณ์รบกวนใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการถดถอยโลจิสติค
ผลการศึกษา : พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 72.44 มีประสบการณ์การเผชิญเหตุการณ์รบกวนใจระดับสูงร้อยละ 41.09 ร้อยละ 48.22 เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้าระดับน้อยและระดับมากมีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น 3.58 เท่า (95%CI = 1.95 - 6.82, p = 0.001) และ 21.9 เท่า (95%CI = 9.1 - 57.69, p = 0.001) ประสบการณ์การเผชิญเหตุการณ์รบกวนใจระดับปานกลางและระดับสูงมีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น 4.67 เท่า (95%CI = 2.48 - 9.06, p = 0.001) และ 8.48 เท่า (95%CI = 4.61 - 16.11, p = 0.001)
สรุป : ครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางสาธารณสุขควรให้ความสำคัญต่อการคัดกรองภาวะซึมเศร้าและประสบการณ์การเผชิญเหตุการณ์รบกวนใจเพื่อเพิ่มความไวต่อการเฝ้าระวังและป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ในระยะแรก
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย