พฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต ภาวะซึมเศร้า และแนวทางการส่งเสริมการรู้ดิจิทัล เพื่อลดพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต และป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ผู้แต่ง

  • อัจศรา ประเสริฐสิน สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • ผกาวรรณ นันทะเสน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต, ภาวะซึมเศร้า, การรู้ดิจิทัล, นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ตและภาวะซึมเศร้าของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 2) ค้นหาแนวทางส่งเสริมการรู้ดิจิทัลเพื่อลดพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ตและป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า

               วิธีการศึกษา : การวิจัยแบบผสานวิธี กลุ่มตัวอย่างข้อมูลเชิงปริมาณคือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย   จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,005 คน และกลุ่มตัวอย่างข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 10 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา จิตวิทยา เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ และหัวหน้างานครูแนะแนว เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบวัดการรู้ดิจิทัล แบบวัดพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ต แบบวัดภาวะซึมเศร้า และแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและการวิเคราะห์เนื้อหา

               ผลการศึกษา : พบว่า 1) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีพฤติกรรมในการติดอินเทอร์เน็ต โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมใช้เวลานั่งเล่นอินเทอร์เน็ตนานกว่าที่ตั้งใจไว้ และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีภาวะซึมเศร้าด้านความรู้สึกและความคิดส่วนใหญ่ในด้านที่เกี่ยวกับความรู้สึกดีต่อตนเอง 2) การพัฒนาแนวทางส่งเสริมการรู้ดิจิทัลเพื่อลดพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ตและป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า องค์ประกอบที่ 1 ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้และทักษะการใช้ดิจิทัล องค์ประกอบที่ 2 ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการคิดอย่างมีวิจารณญาณที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดิจิทัล องค์ประกอบที่ 3 ส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มบุคคลเพื่อเพิ่มทักษะการรู้ดิจิทัล องค์ประกอบที่ 4 ส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักถึงคุณและโทษของอินเทอร์เน็ต

               สรุป : ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมการรู้ดิจิทัลเพื่อลดพฤติกรรม   การติดอินเทอร์เน็ตและป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-04-18