ความเชื่อด้านสุขภาพ พฤติกรรมการมีส่วนร่วม และแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทโดยชุมชน
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อบรรยายความเชื่อด้านสุขภาพในโรคจิตเภท พฤติกรรมการมีส่วนร่วมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภท และแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทโดยชุมชน
วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคจิตเภท มาเป็นผู้ให้ข้อมูล จำนวน 12 คน ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเภท ญาติผู้ดูแล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน บุคลากรสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา : 1) ความเชื่อด้านสุขภาพในโรคจิตเภท : ด้านการรับรู้ความเสี่ยงของโรคจิตเภท พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทมีการกำเริบและกลับเป็นซ้ำจากความเสี่ยง ได้แก่ ไม่ได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลัน ไม่ร่วมมือในการรับประทานยา ใช้สารเสพติด ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้ดูแล ถูกตีตรา และความเสื่อมถอยของสมรรถภาพจากการป่วยซ้ำ ด้านการรับรู้ความรุนแรงของโรคจิตเภท ได้แก่ ขาดยา ใช้สารเสพติด และการตีตราผู้ป่วยจากพฤติกรรมความรุนแรง ด้านการรับรู้อุปสรรคต่อการฟื้นฟูดูแลตนเองในโรคจิตเภท ได้แก่ ขาดความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภท เจตคติที่ไม่ดีต่อผู้ป่วย ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านการรับรู้ประโยชน์ของการรักษา ได้แก่ การส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว การรับประทานยาต่อเนื่อง การให้ความสำคัญกับผู้ดูแล การมีส่วนร่วมของชุมชน การฟื้นฟูทักษะการดูแลตนเอง ความปลอดภัยและความสงบสุขของชุมชน ด้านสิ่งกระตุ้นจูงใจให้ปฏิบัติในโรคจิตเภท ได้แก่ การสนับสนุนความรู้จากเจ้าหน้าที่ การมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยจิตเภท การฝึกปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน การสนับสนุนด้านกำลังใจ และด้านการรับรู้ความสามารถ ได้แก่ ประสบการณ์ความสำเร็จจากการดูแลผู้ป่วยและมุมมองด้านบวกในการดูแล 2) พฤติกรรมการมีส่วนร่วมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภท พบว่า การมีส่วนร่วมของครอบครัวจะช่วยสนับสนุนให้ชุมชนและภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสมรรถภาพ และจัดการปัญหาด้วยทรัพยากรในท้องถิ่น 3) แนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทโดยชุมชน พบว่า มี 3 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ (1) การคืนข้อมูลด้านสุขภาพแก่ชุมชน (2) การสนับสนุนความรู้และการฝึกทักษะการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยด้วยกิจกรรมตามบริบทวิถีเดิมอย่างสม่ำเสมอ และ (3) การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
สรุป : การเข้าใจความเชื่อด้านสุขภาพในโรคจิตเภทจากผู้มีประสบการณ์ตามบริบทที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโดยชุมชนมีส่วนร่วม และช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทต่อไป
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย