ความชุกของการใช้สารเสพติดในผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช โรงพยาบาลตรัง

Main Article Content

พรทิพย์ ซุ่นอื้อ
ประภาศรี ประภากรสกุล
ไพรัช พิมล
ไพจิตร พุทธรอด

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกของการใช้สารเสพติดในผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช โรงพยาบาลตรัง


                วิธีการศึกษา : การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง ในกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ใช้สารเสพติดทุกประเภท ยกเว้นสุรา บุหรี่ ทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ได้รับการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ว่าเป็นผู้ใช้สารเสพติด ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช โรงพยาบาลตรัง จำนวน 233 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบคัดกรอง ASSIST V2 ฉบับภาษาไทย การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน


                ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 233 ราย พบความชุกของการใช้สารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงชีวิต และช่วง 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 74.70 และ 25.20 ตามลำดับ และแบ่งระดับความเสี่ยงของการใช้สารเสพติด เป็น เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงสูง คิดเป็นร้อยละ 50.47, 37.26 และ 12.26 ตามลำดับ เมื่อจำแนกชนิดสารเสพติดที่ใช้บ่อย 4 อันดับแรก คือ ยาบ้า บุหรี่ สุรา กัญชา คิดเป็นร้อยละ 40.34, 30.04, 21.88 และ 6.86 ตามลำดับ เมื่อจำแนกชนิดสารเสพติดที่ใช้แบบเสี่ยงสูงเรียงลำดับจากมากสุด ได้แก่ ยาบ้า สุรา บุหรี่ คิดเป็นร้อยละ 50.00, 14.28 และ 39.21 เมื่อจำแนกตามการวินิจฉัยโรคกับพฤติกรรมการใช้สารเสพติดแบบเสี่ยงสูงพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า และผู้ป่วยที่มีปัญหาการปรับตัว มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดแบบเสี่ยงสูง ร้อยละ 100.00, 92.30, 62.50 และ 35.29 ตามลำดับ ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีการสูบบุหรี่แบบเสี่ยงสูงร้อยละ 42.30 รองลงมาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพบเสี่ยงสูง ร้อยละ 25.00 ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการใช้สุราแบบเสี่ยงสูงร้อยละ 50.00 รองมาคือผู้ที่มีปัญหาการปรับตัวพบร้อยละ 29.41 เหตุผลการใช้สารเสพติดส่วนใหญ่คือ เพื่อความสนุกสนานและการเข้าสังคม ร้อยละ 53.82 รองลงมาอยากแก้อาการเบื่อ เซ็ง เหงา ร้อยละ 42.50


                สรุป : ความชุกช่วงชีวิตและช่วง 3 เดือนของการใช้สารเสพติดในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เป็นการใช้แบบเสี่ยงปานกลาง และสูง สารเสพติดที่ใช้มากที่สุดแบบเสี่ยงสูงคือ ยาบ้า รองลงมาคือบุหรี่ ผู้ป่วยโรคจิตเภทและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดแบบเสี่ยงสูง ดังนั้นผู้ป่วยจิตเวชควรได้รับการคัดกรองการใช้สารเสพติด ผลจากการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในวางแผนการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเสพติด และการศึกษาแนวทางในการสร้างโปรแกรมการบำบัดเฉพาะเพื่อป้องกันการกลับเสพซ้ำ

Article Details

บท
บทความวิจัย