การพัฒนาแบบวัดสภาวะสุขภาพจิตต่อการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์ (ฉบับภาษาไทย) : กรณีศึกษาจากการระบาดของโรคโควิด 19

Main Article Content

เกสร มุ้ยจีน
กาญจณี พันธุ์ไพโรจน์
สุทธิศานติ์ ชุ่มวิจารณ์

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาและทดสอบคุณภาพของแบบวัดสภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์


               วิธีการศึกษา : รูปแบบการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ ประกอบด้วยขั้นตอนการศึกษา 3 ขั้นตอนได้แก่ 1) การสร้างข้อคำถามจากการทบทวนและสังเคราะห์วรรณกรรมเกี่ยวกับแบบวัดภาวะทางด้านสุขภาพจิตในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 2) การทดสอบคุณภาพของแบบวัด และ 3) การวิเคราะห์จุดตัด ของแบบวัดสภาวะสุขภาพจิตเพื่อนำไปใช้คัดกรอง กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จำนวน 659 คน ประกอบด้วย 5 วิชาชีพได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เภสัชกร คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนเพื่อกำหนดการเป็นตัวแทนของผู้เข้าร่วมการวิจัย กระจายตามภูมิภาคของประเทศไทยที่เป็นศูนย์สำหรับให้บริการโควิด 19 เครื่องมือการวิจัยที่ใช้เป็นแบบวัดสภาวะสุขภาพจิตที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบได้แก่  ความวิตกกังวล ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความเหนื่อยล้า จำนวน 29 ข้อ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบคุณภาพของแบบวัด ได้แก่ ค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหา (IOC) ความตรงเชิงโครงสร้างจากองค์ประกอบเชิงยืนยัน (CFA) ด้วยเกณฑ์ความสอดคล้องของข้อมูลเชิงประจักษ์ ความตรงแบบทดสอบกับกลุ่มที่ทราบแน่ชัด ด้วยการทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ความเที่ยงด้วยสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค


               ผลการศึกษา : ค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหา มีค่าอยู่ระหว่าง 0.60 - 1.00 ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน พบว่าโมเดลที่สร้างจากทฤษฎีมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2(273) = 714.78, p < .01; RMSEA = .05CFI = 1.00 TLI = .99 Gamma Hat = .95 NCI = 1.00) และค่าความเที่ยงของแบบวัดมีความสอดคล้องภายในอยู่ในระดับดีมาก พบว่า Cronbach’s α ของความเครียด  .97 ความเหนื่อยล้า .93 ภาวะซึมเศร้า .96 และ ความวิตกกังวล .96


               สรุป : แบบวัดสภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ฉบับภาษาไทย มีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้คัดกรอง ติดตาม และเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพจิตในระหว่างการระบาดของโรคอุบัติใหม่ได้ต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย