การพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูความสามารถในการต่อสู้คดีรายบุคคลสำหรับผู้ป่วยนิติจิตเวช

Main Article Content

อุทยา นาคเจริญ
ภาวินี บุตรแสน

บทคัดย่อ

                วัตถุประสงค์ : 1) เพื่อพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูความสามารถในการต่อสู้คดีรายบุคคล (โปรแกรม Galya-ICR) สำหรับผู้ป่วยนิติจิตเวช และ 2) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรม Galya-ICR


                วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยและพัฒนา ดำเนินการ 2 ระยะ ตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา 7 ขั้นตอน ทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม Galya-ICR โดยการวิจัยกึ่งทดลอง จำนวน 2 ครั้ง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยนิติจิตเวชที่ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ โดยศาลหรือตำรวจส่งมารับการตรวจวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ครั้งที่ 1 แบบ 2 กลุ่ม จำนวน 20 คน และ ครั้งที่ 2 แบบ 1 กลุ่ม จำนวน 10 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด โดยใช้โปรแกรมเดียวกันและดำเนินกิจกรรมทั้งหมด จำนวน 4 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย โปรแกรม Galya-ICR และแบบประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี (Galya-CST) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Independent t-test และสถิติ Paired t-test


                ผลการศึกษา : การทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม Galya-ICR ครั้งที่ 1 พบว่า ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการต่อสู้คดี (Mean = 31.10, SD = 2.56) สูงกว่าก่อนทดลอง (Mean = 18.40, SD = 3.74) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)  และมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการต่อสู้คดีสูงกว่ากลุ่มควบคุม (Mean = 18.30, SD = 5.81) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ส่วนการทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม Galya-ICR ครั้งที่ 2 พบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการต่อสู้คดีสูง (Mean = 92.90, SD = 9.15) กว่าก่อนทดลอง (Mean = 31.20, SD = 14.44) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และเมื่อจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลสามารถกลับไปต่อสู้คดีได้ คิดเป็นร้อยละ 100


                สรุป : โปรแกรมฟื้นฟูความสามารถในการต่อสู้คดีรายบุคคล สามารถช่วยให้ผู้ป่วยนิติจิตเวชกลับไปต่อสู้คดีได้ และสามารถนำไปใช้ในระบบบริการผู้ป่วยนิติจิตเวชให้พยาบาลวิชาชีพใช้บำบัดผู้ป่วยนิติจิตเวชให้มีความสามารถไปต่อสู้คดีได้เร็วยิ่งขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย