การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลแนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน
วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยและพัฒนา ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกตามแนวทางของเกรด ของเครือข่ายแนวปฏิบัติทางคลินิกนานาชาติแมคมาสเตอร์ โดยคัดเลือกจากกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มประชากรผู้พัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ จำนวน 20 คน 2) กลุ่มตัวอย่างผู้ทดลองใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลฯ จำนวน 12 คน และ 3) กลุ่มตัวอย่างผู้ได้รับแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ และเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยแอมเฟตามีน โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน 2564 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน 2) แบบประเมินผลลัพธ์ทางคลินิก ได้แก่ แบบคัดกรองประสบการณ์การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด ฉบับภาษาไทย และ แบบประเมินอาการทางจิต 3) แบบประเมินผลลัพธ์ทางกระบวนการ ได้แก่ แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีน แบบประเมินความคิดเห็นของทีมบุคลากร และแบบสำรวจความเป็นไปได้ของการใช้แนวปฏิบัติทางการพยาบาลฯ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา สถิติ Paired sample t Test และสถิติทดสอบ Wilcoxon Signed Ranks Test
ผลการศึกษา : แนวปฏิบัติการพยาบาลฯ ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้ 1) การประเมินภาวะสุขภาพ 2) การวางแผนการพยาบาล 3) การปฏิบัติการพยาบาล และ 4) การประเมินผลการพยาบาล โดยแนวปฏิบัติการพยาบาลฯที่พัฒนาขึ้น ได้ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิตามเกณฑ์ของ AGREE-II และเมื่อใช้ในผู้ป่วย 30 ราย พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนการใช้สารเสพติด ระหว่างก่อนและหลังได้รับแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระยะ 3 เดือน (MD = 18.48, p < .01) และค่าเฉลี่ยคะแนนอาการทางจิต (BPRS) ระหว่างก่อนและหลังได้รับแนวปฏิบัติการพยาบาลฯแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระยะ 2 สัปดาห์ (MD = 3.03, p < .01) 1 เดือน (MD = 3.76, p < .01) และ 3 เดือน (MD = 0.90, p < .05) และพบว่าพยาบาลผู้ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลฯ และผู้ป่วยที่ได้รับแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ มีความพึงพอใจต่อแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ
สรุป : แนวปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตจากแอมเฟตามีนที่พัฒนาขึ้นมีความเป็นมาตรฐานและสามารถใช้ได้จริงในหน่วยงานโดยทั้งผู้ใช้และผู้ได้รับแนวปฏิบัติการพยาบาลฯมีความพึงพอใจ และผลลัพธ์ทางคลินิกพบว่าสามารถลดอาการทางจิต และลดการใช้แอมเฟตามีนของผู้ป่วยได้
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย