การเปรียบเทียบผลของวิธีการกระตุ้นความจำเชิงบวกด้วยสิ่งเร้าพหุกับการให้สุขภาพจิตศึกษาต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าระดับเล็กน้อย
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลของการกระตุ้นความจำเชิงบวกด้วยสิ่งเร้าพหุ (M-PMS) กับการให้สุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation) ต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าระดับเล็กน้อย
วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง วัดผลก่อนกับหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน เป็นผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อยจากการประเมินภาวะซึมเศร้า 9 คำถาม (7 - 12 คะแนน) ดำเนินการวิจัยในจังหวัดอุบลราชธานี คัดเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยโดยการสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 30 คน กลุ่มทดลองได้รับ M-PMS และ กลุ่มควบคุมได้รับสุขภาพจิตศึกษา มี 3 คน ที่ต้องยุติการทดลอง จากกลุ่ม M-PMS 1 คน และกลุ่มควบคุม 2 คน เนื่องจากติดโควิดต้องรักษาในโรงพยาบาล เครื่องมือวัดผลคือ แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (Beck depression inventory II; BDI-II) และกิจกรรมทดสอบภาวะซึมเศร้า (Depression Task ; DT) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติไคสแควร์ และสถิติทดสอบที
ผลการศึกษา : การบำบัด M-PMS เป็นการบำบัดรายบุคคลที่บ้าน และติดตามโดยใช้แพลตฟอร์มทางอินเตอร์เน็ต โดยการฝึกปฏิบัติทางกระดาษและคอมพิวเตอร์ช่วยฝึก ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลองคะแนนภาวะซึมเศร้าในกลุ่ม M-PMS น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -2.76, p < .01) การเปรียบเทียบคะแนนภาวะซึมเศร้าทั้งสองกลุ่มในระยะก่อนและหลังการทดลอง พบว่าคะแนนภาวะซึมเศร้าทั้งสองกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (M-PMS: t = 8.09, p < .01; Psychoeducation: t = -2.05, p < .01) กลุ่ม M-PMS มีคะแนนความถูกต้องในการตอบสนองด้วย DT สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.38, p < .01) เมื่อเปรียบเทียบระยะก่อนและหลังการทดลองพบว่า กลุ่ม M-PMS มีคะแนนความถูกต้องในการตอบสนองหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -5.43, p < .01) และกลุ่มควบคุมมีคะแนนความถูกต้องหลังการทดลองไม่แตกต่างกับก่อนการทดลอง (t = -2.05, p > .01)
สรุป : การบำบัดด้วย M-PMS เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาผู้ที่มีภาวะซึมศร้าระดับเล็กน้อย และกระตุ้นการทำงานของ Working Memory (WM) นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มการประมวลผลของ WM ในทางบวกและลดการประมวลผลในทางลบ
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย