ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยโรคจิตเภทในแผนกจิตเวชฉุกเฉิน
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาพฤติกรรมก้าวร้าวและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยโรคจิตเภทในแผนกจิตเวชฉุกเฉิน
วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยโรคจิตเภทในแผนกจิตเวชฉุกเฉิน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการที่แผนกจิตเวชฉุกเฉิน จำนวน 189 คน โดยแบ่งด้วยวิธีการสุ่มหาสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 16 คน ภาคกลาง 86 คน ภาคอีสาน 55 คน และภาคใต้ 32 คน ประเมินโดยใช้เครื่องมือ ได้แก่ 1)แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าว 3) แบบประเมินสภาพจิต และ 4) แบบวัดความแออัดในแผนกฉุกเฉิน ผ่านการตรวจสอบค่าความเท่าเทียมกันด้วยการหาค่า Inter-rater reliability ของเครื่องมือวิธี Cohen’s Kappa ได้ค่าเท่ากับ 1 วิเคราะห์ใช้สถิติพรรณนา สถิติสหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน และสถิติการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติค
ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 70.4 อายุเฉลี่ย 37.3 ± 10.8 ปี สถานภาพโสด ร้อยละ 62.4 ระดับชั้นมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ร้อยละ 37.0 และ 29.6 ตามลำดับ และไม่มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย ร้อยละ 83.6 ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยโรคจิตเภทในแผนกจิตเวชฉุกเฉิน พบว่า ประวัติการใช้สุราและสารเสพติด ระดับอาการทางจิต ความแออัดของสถานบริการและประเภทผู้นำส่งผู้ป่วยมาโรงพยาบาล มีความสัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยโรคจิตเภทในแผนกจิตเวชฉุกเฉินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุป : ผลที่ได้จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่นำมาศึกษาในครั้งนี้ มีความสัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยโรคจิตเภทในแผนกจิตเวชฉุกเฉิน ดังนั้นควรมีการนำผลการวิจัยนี้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการในแผนกจิตเวชฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวังการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวและให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย