ประสบการณ์การเยียวยาจิตใจตนเองและการปฏิบัติงานของพยาบาลจิตเวชใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Main Article Content

สุจิรา วิชัยดิษฐ
ฐปรัตน์ รักษ์ภานุสิทธิ์
อุบล วรรณกิจ

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสบการณ์การดูแลจิตใจตนเองของพยาบาลจิตเวชใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเผชิญปัญหาและก้าวผ่านสถานการณ์ยากลำบากในการทำงาน


               วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลจิตเวช จำนวน 20 คน โดยวิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จากพยาบาลจิตเวชที่มีประสบการณ์การทำงานด้านการเยียวยาจิตใจในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา


               ผลการศึกษา : ผู้ให้ข้อมูลมีประสบการณ์และให้ความหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการทำงานใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความตาย 2) เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกหดหู่ ไม่ปลอดภัย และ3) ความไม่ชัดเจนของระบบงานและบทบาททำให้สับสน และอธิบายแนวทางในการดูแลจิตใจตนเองใน 5 ลักษณะ ได้แก่ 1) การระบายและการสนับสนุนให้กำลังใจระหว่างเพื่อนร่วมงาน 2) การออกนอกพื้นที่เพื่อพักผ่อนถ้ารู้สึกเครียดมาก 3) การออกกำลังกาย 4) การสวดมนต์ ทำสมาธิ ปฏิบัติตามแนวทางของศาสนาที่ตนเองนับถือ และ 5) การนำวิธีการทางจิตวิทยามาใช้ในการเยียวยาจิตใจตนเอง ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้มีกำลังใจและยังทำงานต่อในพื้นที่ความไม่สงบจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ 1) การช่วยเหลือและสนับสนุนระหว่างเพื่อนร่วมงาน 2) ความเข้าใจและการสนับสนุนของผู้บริหารองค์กร 3) การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4) มีภูมิลำเนาอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5) รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองและวิชาชีพที่ได้ทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์


               สรุป : องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานสำหรับกำหนดแนวทางในการดูแลสนับสนุนพยาบาลจิตเวชหรือบุคลากรสุขภาพที่ต้องปฏิบัติงานในภาวะเสี่ยงภัย ในการการดูแลเยียวยาจิตใจตนเองให้ทำงานต่อไป ลดความเครียดจากการทำงาน พึงพอใจและมีความสุขในการทำงาน

Article Details

บท
บทความวิจัย