การพัฒนาและผลของโปรแกรมการจัดการตนเองด้วยการเจริญสติตระหนักรู้ความคิดเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
Main Article Content
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาและทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมการจัดการตนเองด้วยการเจริญสติตระหนักรู้ความคิดเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ลดอาการซึมเศร้า ลดความหมกหมุ่นครุ่นคิด เพิ่มระดับสติและเพื่อติดตามประเมินผลการนำไปใช้ในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
วิธีการศึกษา : ใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา มี 9 ขั้นตอน ดำเนินการวิจัยในปีงบประมาณ 2563-2565 ประกอบด้วย 1) วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาความต้องการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการพยาบาล 2) จัดสร้างต้นแบบโปรแกรมเบื้องต้น 3) วิเคราะห์ความตรงของเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ 4) ทดสอบต้นแบบเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 5 คน 5) ปรับปรุงโปรแกรมเบื้องต้น 6) ทดสอบผลของโปรแกรมโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มในผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมที่พัฒนาขึ้น เครื่องมือที่ใช้วัดผลลัพธ์ของโปรแกรม คือ แบบประเมินอาการโรคซึมเศร้า แบบวัดความครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ และแบบวัดระดับความมีสติ ในระยะก่อนการทดลอง หลังสิ้นสุดการทดลองทันทีและติดตามผลภายใน 3 เดือน มีการติดตามการกลับมารักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำระยะ 3 เดือนและ 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความถี่ ร้อยละ การทดสอบไคว์แสคร์ และ Mann Whitney U 7) ปรับปรุงโปรแกรมขั้นสุดท้าย 8) พัฒนาวิธีถ่ายทอดและอบรมพยาบาลวิชาชีพเพื่อการนำไปใช้ในระบบบริการ 9) ติดตามประเมินผลในภาพรวมหลังการนำไปใช้ในระบบบริการของโรงพยาบาลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
ผลการศึกษา : โปรแกรมประกอบด้วย 6 กิจกรรม ครั้งละ 60-90 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ผลของโปรแกรมขั้นตอนที่ 6 พบว่า หลังสิ้นสุดการทดลองทันทีและระยะติดตามผล 3 เดือน กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนภาวะซึมเศร้าลดลงแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) และกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ลดลงแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญสถิติ (p < .05) ระดับของสติไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองไม่มีการกลับมารักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำภายใน 3 เดือน และ 6 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมมีการกลับรักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำใน 3 เดือน 1 คน และ 6 เดือน 3 คน (ร้อยละ 20.00) ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ประสิทธิผลของโปรแกรมหลังนำไปทดลองใช้ในระบบบริการของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการพยาบาลตามโปรแกรมจำนวน 134 คน ผลการติดตามใน 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 2 คน (ร้อยละ 1.49) กลับมารักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำในโรงพยาบาล เนื่องจากมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเศรษฐกิจ และไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
สรุป : โปรแกรมการจัดการตนเองด้วยการเจริญสติตระหนักรู้ความคิดสามารถช่วยป้องกันการกลับมารักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำได้ และโปรแกรมมีผลทำให้อาการโรคซึมเศร้าและความครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าลดลง
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว เป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย