อิทธิพลของเพศ การปรับตัว การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และความผูกพันในครอบครัวต่อความแข็งแกร่งในชีวิตในวัยรุ่นกลุ่มด้อยโอกาส

Main Article Content

พรพิมล พรามน้อย
พัชรินทร์ นินทจันทร์
โสภิณ แสงอ่อน
นันทิยา เอกอธิคมกิจ

บทคัดย่อ

               วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาอิทธิพลของเพศ การปรับตัว การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และความผูกพันในครอบครัว ต่อความแข็งแกร่งในชีวิตในวัยรุ่นกลุ่มด้อยโอกาส


               วิธีการศึกษา : การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนาย กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาสแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย จำนวน 266 คน การเลือกตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมี 5 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต 3) แบบประเมินการปรับตัว 4) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และ5) แบบประเมินความผูกพันในครอบครัว หาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ ส่วนที่ 2 ถึงส่วนที่ 5 ในกลุ่มตัวอย่าง ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบราค  เท่ากับ .85, .87, .86 และ .70 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเชิงชั้น


               ผลการศึกษา : ผลการวิจัยพบว่า เพศมีความสัมพันธ์กับความแข็งแกร่งในชีวิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .170; p < .01) การปรับตัว การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และความผูกพันในครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความแข็งแกร่งในชีวิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .428,  r = .457, และ r = .211 ตามลำดับ; p < .01) และพบว่า เพศ การปรับตัว การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และความผูกพันในครอบครัวสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความแข็งแกร่งในชีวิตในวัยรุ่นกลุ่มด้อยโอกาสกลุ่มนี้ได้ร้อยละ 34.0 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .340, F = 33.651, p < .001) โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความแข็งแกร่งในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่  การสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อน และการปรับตัว


               สรุป : ผลการวิจัยครั้งนี้น่าจะเป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชีวิตให้กับวัยรุ่นกลุ่มด้อยโอกาสต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย