การประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : กรณีศึกษาการควบคุมการประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ เทศบาลตำบลศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ผู้แต่ง

  • สมชาย แช่มชูกลิ่น ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา
  • ศมกานต์ ทองเกลี้ยง ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา
  • ศิริภาพร ภูโยฤทธิ์ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา
  • อารยา อินต๊ะ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา

คำสำคัญ:

การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ, อู่ซ่อมรถ, เทศบาลตำบลศีขรภูมิ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ เทศบาลตำบลศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และสภาพปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ รวมถึงเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการได้รับผลกระทบจากเหตุรำคาญ ตลอดจนเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุมการประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ เทศบาลตำบลศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์โดยศึกษาตามขั้นตอนของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment-HIA)  ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน โดยมีผลการศึกษาดังนี้ 1) ขั้นตอนการกลั่นกรอง โดยได้จัดประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้นและรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะรวมทั้งข้อมูลทั่วไป สิ่งคุกคามสุขภาพ ผลกระทบต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพ และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากอู่ซ่อมรถ 2) ขั้นตอนกำหนดขอบเขตการศึกษา โดยการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ซึ่งสรุปขอบเขตการศึกษาได้ดังนี้ ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ ผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถ จำนวน 25 ราย และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้อู่ซ่อมรถในเขตเทศบาลตำบลศีขรภูมิ ภายในรัศมี 150 เมตร จำนวน 100 ครัวเรือน เก็บข้อมูลโดยการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ และสัมภาษณ์ประชาชน ระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติไคสแควร์ (gif.latex?\chi2) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติ = 0.05 3) ขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตการศึกษา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับอู่ซ่อมรถได้รับความเดือดร้อนหรือเหตุรำคาญจากอู่ซ่อมรถ ร้อยละ 38.0 โดยส่วนใหญ่เกิดจากเสียงดังจากการเร่งเครื่องยนต์ และเขม่า/ควันพิษจากท่อไอเสีย ร้อยละ 89.5 และพบว่าเสียงดังจากการเร่งเครื่องยนต์มีระดับความรุนแรงของผลกระทบระดับมากที่สุด ร้อยละ 8.6 และมีความคิดเห็นว่า อู่ซ่อมรถส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยผลกระทบด้านบวก ได้แก่ มีอู่บริการใกล้ชุมชน/ทำให้สะดวกในการเดินทาง เกิดการจ้างงานในชุมชน/ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้  ส่วนผลกระทบด้านลบ ได้แก่ เสียงดังจากการทดสอบรถหรือการเร่งเครื่องยนต์ มีกลิ่นเหม็น/กลิ่นสารระเหย/ควันรถ และทัศนียภาพไม่น่าดู สำหรับกิจการอู่ซ่อมรถ ทั้ง 25 แห่ง พบว่า สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ยังไม่มีการป้องกัน ควบคุมหรือบำบัดกลิ่น อากาศเสียจากการประกอบกิจการ ไม่มีห้องสำหรับพ่นสีและอบสีโดยเฉพาะ ไม่มีบ่อพัก บ่อดักไขมัน/น้ำมัน และการบำบัดหรือการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากการประกอบกิจการก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ห้องส้วมไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีสถานที่สำหรับเก็บรักษาวัตถุอันตรายและสถานที่จัดเก็บสารเคมีที่ใช้ในการประกอบกิจการแยกออกจากพื้นที่อื่นๆ  เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ ยังจัดเก็บไม่เป็นสัดส่วน ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และเครื่องดับเพลิงตามที่กฎหมายกำหนด และในกรณีที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องพบว่าอู่ซ่อมรถส่วนใหญ่มีการเก็บน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วหรือน้ำมันหล่อลื่น ไว้ในถัง 200 ลิตร เพื่อรอจำหน่าย ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในอู่ซ่อมรถ พบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ระหว่าง 11-20 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และ 21-30 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ผลการตรวจวัดแสง ส่วนใหญ่มีความเข้มแสงอยู่ระหว่าง 101-500 ลักซ์  ผลการตรวจวัดเสียง ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ระหว่าง 65.1-70 เดซิเบลเอ และผลการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ระหว่าง 0.1-2 ppm ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการได้รับผลกระทบจากเหตุรำคาญ พบว่า อายุ และระยะห่างจากอู่ซ่อมรถกับการได้รับผลกระทบจากเหตุรำคาญ มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) 4) ขั้นตอนการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะ เป็นการนำข้อมูลจากขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพมาจัดทำเป็นรายงานผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ และนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอู่ซ่อมรถ โดยได้จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาในพื้นที่ และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล ข้อเสนอแนะ และมาตรการลดผลกระทบจากอู่ซ่อมรถ รวมทั้งมาตรการด้านสุขลักษณะของอู่ซ่อมรถ และส่งมอบให้กับเทศบาลตำบลศีขรภูมิ เพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงเทศบัญญัติของเทศบาลตำบลศีขรภูมิต่อไป  5) ขั้นตอนการติดตามตรวจสอบและประเมินผล เป็นขั้นตอนที่เทศบาลตำบลศีขรภูมิ นำมาตรการด้านสุขลักษณะที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นประกอบกับหลักเกณฑ์ทางวิชาการตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข  มาตรฐานอู่ซ่อมรถสีเขียว และแบบประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (checklist) ไปปรับปรุงเทศบัญญัติควบคุมกิจการอู่ซ่อมรถโดยกำหนดหลักเกณฑ์สุขลักษณะการดำเนินกิจการและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 และเมื่อเทศบัญญัติควบคุมกิจการอู่ซ่อมรถมีผลบังคับใช้แล้ว เทศบาลตำบลศีขรภูมิต้องกำกับติดตามตรวจสอบกิจการอู่ซ่อมรถในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะการดำเนินกิจการและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ก่อนให้ใบอนุญาต ระหว่างประกอบกิจการ และก่อนต่อใบอนุญาต

Author Biographies

สมชาย แช่มชูกลิ่น, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ

ศมกานต์ ทองเกลี้ยง, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ

ศิริภาพร ภูโยฤทธิ์, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

อารยา อินต๊ะ, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

References

1. ราชพฤกษ์ แสงสิริ. ปัจจัยส่วนผสมทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการอู่ซ่อมรถยนต์ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. การค้นคว้าอิสระปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเนชั่นฺ; 2557.
2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือหลักการแนวคิดพื้นฐานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ. นนทบุรี: 2552.
3. เนชั่นออนไลน์. คพ.สำรวจพบอู่ซ่อมรถไร้มาตรฐาน1แสนแห่งทิ้งน้ำเสียน้ำล้างสีลงท่อน้ำ.เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561. เข้าถึงได้จาก http://www.nationtv.tv/main/content/378514669/.
4. สุณัฎฐา โน้ตสุภา, อุไรวรรณ อินทร์ม่วง. สภาพปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของอู่ซ่อมและอู่เคาะพ่นสีรถยนต์และแนวทางการแก้ไขปัญหาในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร. วารสารวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2555;5(3):65-76.
5. พุทธิชัย นิลเพ็ชร์, ดุษฎี หมื่นห่อ, บรรจง วิทยวีรศักด์. ความเข้มข้นของตะกั่ว แคดเมียม และโครเมียมในอู่พ่นสีรถยนต์ในจังหวัดสงขลา. บทความฉบับเต็ม การประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 34 (The 34th National Graduate Research Conference) วันที่ 27 มีนาคม 2558. ณ อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 896-904.
6. วิภารัตน์ โพธิ์ขี, สุภาพร บัวเลิง, สุนิสา ชายเกลี้ยง. ผลการสำรวจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทางานของสถานประกอบกิจการร้านซ่อมรถยนต์ในเทศบาลนครขอนแก่น. วารสารวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5(3):77-86.
7. อดิศักดิ์ คงวัฒนานนท์, จำเนียร มูลเทพ, วราพร เกิดผล, เชาวนี จำปาทุม, แคทรียา ทองสอดแสง. การศึกษาสถานประกอบกิจการซ่อมรถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น. 2547.
8. ณัฐชฎา พิมพาภรณ์. การศึกษาความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการทางานของพนักงานในอู่ซ่อมรถยนต์.วารสารวิชาการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย 2557; 20(1):70-80.
9. มุจลินท์ อินทรเหมือน, ศิริพร ด่านคชาธาร, ราชัน ฉ้วนเจริญ, จิตตาภรณ์ มงคลแก่นทราย, จุมาทิพย์ โนวัฒน์, วรรณกร ศรเพชร, อัจราภรณ์ เงินฉลาด. พฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานในอู่ซ่อมรถยนต์ เขตเทศบาลนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช. เอกสารประกอบ การประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 13: วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2560 ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก 760-766.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-31