กลยุทธ์ดำเนินงานของภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชน จังหวัดอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • อรัญญา สุริยะจันทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 อุดรธานี

คำสำคัญ:

กลยุทธ์ดำเนินงาน, ภาคีเครือข่าย, สุขภาพจิตชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์ดำเนินงานของภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชน ศึกษาการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ประเมินภาวะสุขภาพจิตของประชาชน และกรณีศึกษาความต้องการของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตในชุมชนหนองบัว เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive research) ศึกษานำร่องจังหวัดอุดรธานีและกรณีศึกษาความต้องการของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตในชุมชนหนองบัว 1-7 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี เก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุข จำนวน 85 คน เครือข่ายชุมชน จำนวน 235 คน ประชาชน จำนวน 348 คน และผู้ดูแลในครอบครัวผู้ป่วย จำนวน 5 คน โดยใช้แบบสอบถาม SWOT analysis ข้อมูลบริการ แบบสอบถามการมีส่วนร่วม แบบคัดกรองภาวะสุขภาพจิต (alpha= 0.91) และแบบสัมภาษณ์เชิงลึกกรณีศึกษาผู้ดูแล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา  ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การสรุปเนื้อหา และวิเคราะห์สรุปแบบสามเส้า (Triangulation)

ผลการศึกษาพบว่า กลยุทธ์ดำเนินงานของภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชน ได้แก่ 1) กลยุทธ์เสริมจุดแข็งและโอกาสโดยพัฒนาศักยภาพบุคลากร กำหนดแนวทางคุณภาพการจัดบริการ 2) กลยุทธ์การพลิกตัว โดยการให้ความรู้การดำเนินงานสุขภาพจิตแก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และญาติ 3) กลยุทธ์การแตกตัวหรือขยายขอบข่าย โดยให้ อสม.หรือแกนนำชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเสริมสร้างสุขภาพจิตในชุมชน และคัดกรองผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 4) กลยุทธ์การตั้งรับ โดยการประชาสัมพันธ์ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จัดตั้งกลุ่มให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและประสานงาน และ 5) กลยุทธ์ระบบการส่งต่อและการติดตามประเมินผล หลังการพัฒนาหน่วยบริการมีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะ มีระบบส่งต่อด้านสุขภาพจิต จิตเวชและสารเสพติด มีจำนวนผู้ป่วยทั่วไปทั้งหมดที่เข้ารับบริการในหน่วยบริการต่อวันเฉลี่ย 39.14 (mean = 39.14, SD=23.10) โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ ได้แก่ โรคจิต จำนวน 1-5 คน ร้อยละ 48.5, โรควิตกกังวล จำนวน 1-5 คน ร้อยละ 48.5 และ โรคซึมเศร้า จำนวน 1 คน ร้อยละ 45.8 ตามลำดับ การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชนดีกว่าระบบเดิม โดยพบว่า มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนและช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพผู้มีภาวะสุขภาพจิต ส่งเสริมอาชีพและมีจิตอาสา ร้อยละ 100, ภาวะสุขภาพจิตของประชาชน มีอาการทางจิตเฉลี่ย 0.74 (mean=0.74, SD=1.56) กรณีศึกษาความต้องการของผู้ดูแลในครอบครัวผู้ป่วย (family caregivers) ได้แก่ ความต้องการให้ภาครัฐบาลกำหนดนโยบายการดูแลสุขภาพของผู้ดูแลในครอบครัวและด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเยี่ยมดูแลผู้ป่วยโรคจิตและเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด สนับสนุนให้ผู้ดูแลในครอบครัวเตรียมพร้อมทางด้านการเงิน มีการส่งเสริมสุขภาพผู้ดูแล ให้ค่าตอบแทนเบี้ยยังชีพ การพัฒนาศักยภาพ และฝึกอาชีพ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน ควรตั้งชมรมช่วยเหลือผู้ดูแล

สรุป กลยุทธ์ดำเนินงานของภาคีเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชน จังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ถึงระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริการสุขภาพจิตในชุมชนได้อย่างตรงเป้าหมาย

Author Biography

อรัญญา สุริยะจันทร์, ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 อุดรธานี

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

References

1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. กรอบทิศทางการพัฒนางานสุขภาพจิต และแผนยุทธศาสตร์กรมสุขภาพจิต ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) [ออนไลน์]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 2559 กรกฎาคม 1]. เข้าถึงได้จาก: https://www.dmh.go.th/intranet/p2554/dmh2554.pdf
2. กระทรวงสาธารณสุข. การฆ่าตัวตายของประเทศไทย. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข; 2560: 265-6.
3. ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ. อัตราฆ่าตัวตายในประเทศไทย [ออนไลน์]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 2560 พฤษภาคม 21]. เข้าถึงได้จาก: https//www.suicidethai.com
4. Daniel WW. Biostatistics: A Foundation for Analysis in the Health Sciences. 6th ed. Singapore: John Wiley & Sons; 1995.
5. อภิชัย มงคล. แบบคัดกรองโรคจิต (psychotic screening test). คู่มือการใช้แบบคัดกรองสุขภาพจิต โครงการจัดทำโปรแกรมสำเร็จรูปในการสำรวจสุขภาพจิตในพื้นที่ ปี 2545. นนทบุรี: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข; 2545.
6. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119/ตอน 116 วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545.
7. กาญจนา บุญยัง. การฆ่าตัวตายของชาวนาในสังคมไทย: กรณีวิเคราะห์จากข่าวหนังสือพิมพ์. วารสารการบริหารท้องถิ่น 2559;9(1):1-17.
8. อมราพร สุรการ และ ณัฐวุฒิ อรินทร์. การดูแลสุขภาพจิต: การมีส่วนร่วมของชุมชน. วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2557; 6(12): 176-84.
9. Fuller-Thomson E, Hollister B. Schizophrenia and Suicide Attempts: Findings from a Representative Community-Based Canadian Sample. Schizophr Res Treatment. 2016;2016:3165243. doi:10.1155/2016/3165243.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-31