รายงานสอบสวนการระบาดของโรคหัด ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และข้อเสนอแนะสำหรับโครงการกำจัดหัดประเทศไทย พ.ศ. 2560

ผู้แต่ง

  • สุผล ตติยนันทพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา
  • ลักขณา สีนวลแล สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
  • พัชรภร คอนจำนงค์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
  • กัญญรัตน์ สระแก้ว สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
  • อนุพล ครึบกระโทก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
  • ณัฐพล จำปาสาร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
  • บุญชัย นันทิประภา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
  • วรายุ สุมาลา โรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา
  • ศศิธร ดวงเพ็ชรแสง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา

คำสำคัญ:

การระบาด, โรคหัด, ไข้ออกผื่น, ปัจจัยเสี่ยง

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ 1-6 ปี สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งสามารถพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย สารถติดต่อได้จากการ ไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิดวันที่ 6มิถุนายน 2560 กลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันโรคหัดเป็นกลุ่มก้อนใน ม.6 ต.ท่าหลวง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จึงได้ดำเนินการสอบสวนโรคในพื้นที่ในระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและยืนยันการระบาดของโรคเพื่อศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยาเชิงพรรณนาเพื่อหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการระบาดและเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรค

วิธีการศึกษา: ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาและระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์แบบ Matched case – control study เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคโดยเก็บข้อมูลตัวอย่าง 65 คน (ผู้ป่วย 13 คน ผู้ไม่ป่วย 52 คน) โดยใช้แบบสอบถาม ME2 Form วิเคราะห์หาค่า Odd ratio และ 95% CI คำนวณหาความสัมพันธ์เบื้องต้น (univariate) ด้วย logistic regression analysis

ผลการสอบสวน: พบผู้ป่วยทั้งหมด 23 ราย อัตราป่วยเท่ากับ18.90 ต่อประชากรแสนคน เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคหัด 13 ราย (ร้อยละ 56.52) ผู้ป่วยสงสัย 10ราย (ร้อยละ43.4) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลบวกต่อ Measles IgM จำนวน 13 ตัวอย่าง (ร้อยละ 61.90) เป็นการระบาดแบบแหล่งโรคแพร่กระจาย มีการกระจายไปใน 8 ตำบล อัตราป่วยสูงที่สุดในตำบลท่าหลวง พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 20-24 ปี (ร้อยละ 21.74) และ 30-34 ปี (ร้อยละ 21.74) เป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงในการระบาดของโรคหัดในครั้งนี้คือการเดินทางออกนอกพื้นที่ใน 2 สัปดาห์ก่อนป่วย (OR = 4.92) (95% CI 1.22-19.474) และ การใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย (OR = 7.85) (95% CI 1.68-36.62) และการได้รับวัคซีน (OR = 0.09) (95% CI 0.01-0.61)    

สรุปและวิจารณ์ผล: ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดคือการเดินทางออกนอกพื้นที่ใน 2 สัปดาห์ก่อนป่วย การใช้ของร่วมกับผู้ป่วยซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นปัจจัยในป้องกันการเกิดโรคหัด  ปัจจัยเสริมอีกอย่างคือความครอบคลุมของวัคซีนโรคหัดที่ต่ำใน อ. พิมายทำให้ไม่มี Herd Immunity เพียงพอป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัด การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนและอาจจะยังไม่เคยติดเชื้อในธรรมชาติ จากการประเมินการดำเนินงานตามโครงการกำจัดโรคหัดพบว่าส่วนใหญ่ยังดำเนินงานไม่ได้ตามเป้าหมาย การควบคุมการระบาดดำเนินการทันทีหลังจากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเน้นแยกผู้ป่วย และการป้องกันการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มคนใกล้ชิดผู้ป่วยและการให้วัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์และเก็บตกการให้วัคซีนเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไปถึงอายุต่ำกว่า 7 ปี

References

1. สมเจตน์ ตั้งเจริญศิลป์. โรคหัด. รายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2548;36:5-8.
2. กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ กรมควบคุมโรค. แนวทางการเฝ้าระวังควบคุมโรค การตรวจรักษาและการส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการกำจัดโรคหัดตามโครงการกำจัดโรคหัด ตามพันธะสัญญานานาชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอรด์ดีไซน์; 2559.
3. World Health Organization. Measles. [Online] 2560. [cited 2017 July 10]. Available from: http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs286/en/
4. ดารินทร์ อารีย์โชคชัย, สมเจตน์ ตั้งเจริญศิลป์. แนวทางการเฝ้าระวังสอบสวนทางระบาดวิทยาและการรายงานโรคหัด. ใน: ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ, พรทิพย์ จอมพุก, เลิศฤทธิ์ ลีลาธร, บรรณาธิการ. แนวทางการเฝ้าระวังควบคุมโรค การตรวจรักษา และส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการกำจัดโรคหัด ตามโครงการกำจัดโรคหัดตามพันธะสัญญานานาชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2555. หน้า 13-24.
5. สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลาและคณะ. การะบาดของโรคหัดในผู้ต้องขังชาย เรือนจำแห่งหนึ่ง จังหวัดมหาสารคาม เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2556. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2557; 45(48):753-60.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-12-31