การประเมินผลโครงการพัฒนาระบบบริการใหม่ ฟันเทียมทันใจ ห่วงใยชุมชน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • อนงค์ เพชรล้ำ โรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

คำสำคัญ:

การประเมินผล, พัฒนาระบบบริการ, ฟันเทียม, ชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการพัฒนาระบบบริการใหม่ “ฟันเทียมทันใจ ห่วงใยชุมชน” ในด้านคุณภาพบริการ ความพึงพอใจ และคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยที่ใส่ฟันเทียม รวมทั้งความพึงพอใจของบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ป่วยที่ใส่ฟันเทียมที่ รพ.สต.บ้านเดื่อ และบ้านหัน จำนวน 51 คน บุคลากรสาธารณสุขใน รพ.สต.บ้านเดื่อ และบ้านหัน แห่งละ 4 คน และ อสม.แห่งละ 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย แบบประเมินคุณภาพบริการ ความพึงพอใจต่อการใส่ฟันเทียม และคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากหลังใส่ฟันเทียม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่รับบริการใส่ฟันเทียมส่วนใหญ่เป็นประเภทฟันเทียมทั้งปาก ร้อยละ 68.6 ฟันเทียมใช้งานได้ ร้อยละ 98.0 โดยใช้เคี้ยวอาหารและเพื่อความสวยงาม ร้อยละ 90.2 ส่วนใหญ่ทำความสะอาดฟันเทียมโดยใช้ยาสีฟันและแปรงสีฟัน ร้อยละ 74.5 และถอดฟันเทียมแช่น้ำขณะนอนตอนกลางคืน ร้อยละ 82.4 ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการจัดบริการใส่ฟันเทียมใน รพ.สต. ในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก (gif.latex?\bar{x}= 3.84, SD=0.26) โดยพึงพอใจมากที่สุดเรื่องเจ้าหน้าที่แสดงความเอาใจใส่และเต็มใจให้บริการ มีกิริยามารยาทที่สุภาพนุ่มนวล (gif.latex?\bar{x}= 3.92) พึงพอใจน้อยที่สุดเรื่องการใช้ระยะเวลารอเหมาะสมในการมารับบริการแต่ละครั้ง (gif.latex?\bar{x}= 3.60) ส่วนเรื่องคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก พบว่าผู้ป่วยหลังใส่ฟันเทียมกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก มีร้อยละ 68.6 (OIDP = 3.19±7.03) โดยผู้ป่วยได้รับผลกระทบในด้านการกินอาหารมากที่สุด คือร้อยละ 21.6 ส่วนความพึงพอใจของบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องต่อการจัดบริการใส่ฟันเทียมใน รพ.สต. ในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก (gif.latex?\bar{x}= 3.91, SD=0.15) โดยพึงพอใจมากที่สุดเรื่องเจ้าหน้าที่แสดงความเอาใจใส่และเต็มใจให้บริการ มีกิริยามารยาทที่สุภาพนุ่มนวล และการลดระยะเวลาการรอคิวทำฟันเทียมที่โรงพยาบาล (gif.latex?\bar{x}= 4.00) พึงพอใจน้อยที่สุดเรื่องงบประมาณที่ใช้มีความเพียงพอ และเหมาะสม

จากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงระบบบริการใส่ฟันเทียมที่ รพ.สต.ในเรื่องการลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการ และการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากขึ้น 

Author Biography

อนงค์ เพชรล้ำ, โรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ

References

1. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ทิศทางการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ [อินเตอร์เน็ต]. มปป. [เข้าถึงเมื่อ 2559 พ.ย. 16] เข้าถึงได้จาก: www.dental.anamai.moph.go.th
2. พัชราวรรณ ศรีศิลปนันทน์, นฤมัส คอวนิช, สุธา เจียมมณีโชติชัย, สุปราณี ดาโลดม, นนทลี วีรชัย, วรางนา เวชวิธี. รายงานวิจัยเรื่อง ผลของการใส่ฟันเทียมต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต.
เชียงใหม่: พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์; 2553 .
3. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. รายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549-2550. นนทบุรี: กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข; 2551
4. สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7 ประเทศไทย พ.ศ. 2555. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2556.
5. เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย. การวิจัยทางการพยาบาล. สงขลา: สำนักพิมพ์อัลลายด์ เพรส; 2535.
6. Best, JW. Research in Education. New Jersey: Prentice-Hall; 1970.
7. เบญจมาศ สือพัฒธิมา. ความพึงพอใจและคุณภาพชีวิตภายหลังการใส่ฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทานที่โรงพยาบาลโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์. วิทยาสารทันตสาธารณสุข 2556; 18(1): 36-48.
8. นิตยา เจริญกุล. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการทันตกรรม: กรณีศึกษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ. วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2557; 7(3): 17-30 .
9. วัฒนะ ศรีวัฒนา. คุณภาพและการดูแลรักษาฟันเทียม สภาวะช่องปาก และคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ในผู้รับบริการใส่ฟันเทียมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เขตอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ปี 2556-2558. วารสารศูนย์อนามัยที่ 9 2559; 10(23): 36-50.
10. บุญเกียรติ วัฒนเรืองรอง. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงโครงการฟันเทียมพระราชทาน สำหรับผู้สูงอายุ ในเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารสาธารณสุขศาสตร์ 2551; 38(3): 396-407.
11. สุชาดา ฑีฆายุพันธุ์, พีรวิชญ์ พาดี. ความพึงพอใจในการใส่ฟันเทียมในโครงการฟันเทียมพระราชทานของจังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2549. วิทยาสารทันตสาธารณสุข 2551; 13(1): 88-95.
12. บังอร กล่ำสุวรรณ์, ปิยะนุช เอกก้านตรง. ความพึงพอใจของผู้สูงอายุต่อโครงการฟันเทียมพระราช
ทาน เขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 10 และ 12. ชลบุรี: ศูนย์อนามัยที่ 6; 2550.
13. ปรารถนา ฮู้ผลเอิบ, อาทิตยา เจริญสุขเกษม, ปุณฑริกา การกสิขวิธี. คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมและไม่ใส่ฟันเทียม ในจังหวัดอ่างทอง. วารสารสาธารณสุขศาสตร์ 2551; 38(3): 416-26 .
14. เกศศินี วีระพันธ์. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้บริการใส่ฟันเทียมของผู้สูงอายุโรงพยาบาลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 12: วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ; 2557.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-12-31