ความสัมพันธ์ของความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของหญิงมีครรภ์ที่มีบุตรอายุ 1 ปีครึ่ง - 3 ปี กับโรคฟันผุของลูก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ปี 2559

ผู้แต่ง

  • วัชรินทร์ เทียนศิริวงศากุล โรงพยาบาลประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

คำสำคัญ:

ความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรม, โรคฟันผุ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของหญิงมีครรภ์กับสภาวะโรคฟันผุของลูก อำเภอประโคนชัย ปี 2559  โดยดำเนินการศึกษาในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559  ตามแบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของหญิงมีครรภ์ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยใช้สถิติไค-สแควร์ (Chi-square test ) และสถิติ ฟิชเชอร์ เอกแซค เทสท์ (Fisher s Exact test) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์  จำนวน 150 คน ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ระหว่าง 26-30 ปี ร้อยละ 48.7  อายุเฉลี่ย 27.73 ปี อายุต่ำสุด 20 ปี และมีอายุสูงสุด 40 ปี  การศึกษาส่วนใหญ่จบประถมศึกษาร้อยละ 66.6  อาชีพส่วนใหญ่คืออาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ34  รายได้ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 41.3  ประวัติการพบทันตแพทย์จะมาพบทันตแพทย์เมื่อมีปัญหา ร้อยละ 72.7  ส่วนสภาวะโรคฟันผุของลูกพบว่า ลูกฟันไม่ผุ ร้อยละ 65.3 และพบลูกมีภาวะโรคฟันผุ ร้อยละ 34.7 หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่จะมีระดับความรู้ และระดับทัศนคติ อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 60.7 และ 47.39 ตามลำดับ โดยมีระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากในระดับควรปรับปรุง ร้อยละ 61.3   ซึ่งทั้งความรู้ทัศนคติและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของหญิงมีครรภ์มีความสัมพันธ์กับสภาวะโรคฟันผุของลูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P<0.001 โดยพบว่า หญิงมีครรภ์ที่มีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากระดับปานกลางจะมีลูกที่มีสภาวะโรคฟันผุร้อยละ 85.7   หญิงมีครรภ์ที่มีระดับทัศนคติน้อย จะมีลูกที่มีสภาวะโรคฟันผุ ร้อยละ 68.6 และพบว่าหญิงมีครรภ์ที่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากใน ระดับไม่เหมาะสม จะมีลูกที่มีสภาวะโรคฟันผุ ร้อยละ 52.2

Author Biography

วัชรินทร์ เทียนศิริวงศากุล, โรงพยาบาลประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ

References

1. Casamassimo PS. Relationships between oral and systemic health. Pediatr Clin North Am 2000;47:1149-57.
2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7 [อินเตอร์เน็ต]. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 2559 มิถุนายน 16]. เข้าถึงได้จาก: http://dental.anamai.moph.go.th
3. รายงานการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพตามกลุ่มอายุ 3 ปี 12 ปี 60-74 ปี จังหวัดบุรีรัมย์ ปี 2558. (เอกสารอัดสำเนา).
4. จุธารัตน์ กองโส, พรทิพย์ คำพอ. การพัฒนาศักยภาพในการดูแลทันตสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ โรงพยาบาลจักรราช อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา. วารสารวิจัย มข (ฉบับบัณฑิตศึกษา); 13 (1): 89-98.
5. Supannee P. Oral Health Care Behavior of Pregnant Women at Banlaum Primary Care Unit, Nakhon Ratchsima Province [Thesis]. Khon Kaen: Khon Kaen University: 2008.
6. กันทิมา เหมพรหมราช. พฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนของผู้ปกครองในศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา. เวชสารโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา 2549; 2:103-10.
7. สุดใจ แจ่มเจือ, พรรณี บัญชรหัตถกิจ, ธีระศักดิ์ ชายผา. พฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนของผู้ปกครองที่มารับบริการทันตกรรมในโรงพยาบาลด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา. วิทยาสารทันตสาธารณสุข 2545; 7(2): 56-63.
8. สายสุนีย์ นาคะวัจนะ. ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากหญิงมีครรภ์. อุดรธานี: โรงพยาบาลกุมภวาปี; 2544.
9. เสมอจิต พิธพรชัย, อังคณา เธียรมนตรี, วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์, จรัญญา หุ่นศรีสกุล, สุพัชรินทร์ พิวัฒน์, วาลี ชูคดี. ประสิทธิภาพของโปรแกรมการให้ทันตสาธารณสุขแบบสนทนากลุ่มย่อยในหญิงตั้งครรภ์. วิทยาสารทันตแพทย์ศาสตร์ 2549; 56(5): 370-1.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-12-31